Triangle of Sadness : คนรวยบนเรือสำราญ กับความพินาศพลิกชนชั้น

โดย
Nattanan Chankwang Nattanan Chankwang
เขียนเมื่อ
Triangle of Sadness : คนรวยบนเรือสำราญ กับความพินาศพลิกชนชั้น

หากพูดถึงหนังที่เพิ่งเข้าโรงไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คงไม่มีเรื่องไหนน่าสนใจไปกว่า Triangle of Sadness ภาพยนตร์ดีกรีรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ รางวัลอันทรงเกียรติที่หนังคุณภาพดีอย่าง Parasite (2019) หรือ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) เคยคว้ามาครองแล้ว

การคว้ารางวัลครั้งนี้ของ Triangle of Sadness ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้ใครหลายคนมากนัก เพราะผู้กำกับอย่าง รูเบน ออสต์ลุนด์ เคยสร้างหนังอย่าง The Square (2017) ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำมาได้แล้วหนึ่งครั้ง นั่นจึงทำให้แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของออสต์ลุนด์ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก

Triangle of Sadness คือเรื่องราวของ Carl และ Yaya สองแฟชั่นโมเดลที่ถูกเชิญไปขึ้นเรือยอร์ชหรูร่วมกับเหล่าคนรวยอีกมากมาย ก่อนการเดินทางอันแสนสนุกจะกลับตารปัตร เมื่อพวกเขาพบเจอกับพายุและโจรสลัด ส่งผลให้ชนชั้นแรงงานผู้เคยเป็นเบี้ยล่างของเหล่าผู้มีอันจะกิน พลิกกลับมาเป็นผู้มีอำนาจเสียเอง

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความสนใจในเรื่องการเมืองของออสต์ลุนด์ ก้าวมามีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยผู้กำกับได้เปิดเผยเอาไว้ว่า คุณแม่ของเขาเป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และยังคงเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ออสต์ลุนด์จะยอมรับว่าแทบไม่มีใครในละแวกบ้านที่นิยมการเมืองฝ่ายซ้ายเหมือนครอบครัวเขา และนั่นทำให้เขาต้องซ่อนหนังสือของมากซ์และเลนินแทบทุกครั้งเมื่อเพื่อนเดินทางไปหาที่บ้าน

นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้ผู้กำกับชาวสวีเดนนำแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองฝั่งซ้ายมาถล่มแบบจัดเต็มในหนังเรื่อง Triangle of Sadness ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวละครกัปตันเรือยอร์ช (แสดงโดย วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) ให้เป็นผู้นิยมลัทธิมาร์กซิสต์ ที่กล้าอ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ให้เหล่าคนรวยทั้งหลายได้ฟัง ขณะแขกบนเรือของเขากำลังเมาคลื่นจนไม่ได้สติ

แต่ชั้นเชิงของผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำสองสมัย ย่อมไม่พูดถึงแนวคิดทางการเมืองของเขาผ่านการสร้างตัวละครเพียงเท่านั้น ออสต์ลุนด์ยังมอบสถานการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนบนเรือยอร์ช เพื่อให้ผู้คนได้เอาใจช่วยเหล่าคนรวย ก่อนจะพาพวกเขาไปพบสถานการณ์ที่แปลกประหลาดโดยสิ้นเชิงในช่วงครึ่งหลัง เมื่อความพินาศทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเรื่อง นำมาสู่การพลิกกลับของระบบชนชั้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ออสต์ลุนต์เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่เคยวางตอนจบของหนังให้เกิดขึ้นในสถานที่อื่น นอกจากเกาะร้างแห่งหนึ่ง เพราะในสถานที่แห่งนี้ซึ่งผู้ชมกำลังติดตามเหล่าคนรวยผู้เปี่ยมด้วยเงินและอำนาจ กับสองแฟชั่นโมเดลผู้มีชื่อเสียง ไม่มีใครที่จะช่วยให้พวกเขารอดชีวิตไปได้นอกจาก “แม่บ้าน” ประจำเรือยอร์ช มนุษย์คนเดียวในกลุ่มคณะเดินทางที่ตกปลาและก่อไฟเป็น

นี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เราพอจะเล่าได้เกี่ยวกับ Triangle of Sadness แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนยันได้คือ เหล่าคนรวยที่ออกเดินทางด้วยความหรรษาบนเรือยอร์ชแห่งนี้ จะไม่ได้พบเจอกับความสุขสบายในปลายทางอย่างที่ทุกคนคุ้นชิน และการพลิกชนชั้นจากล่างสู่บน และบนสู่ล่าง คือจุดเริ่มต้นของความพินาศเกินจินตนาการแบบที่คุณไม่เคยเห็นจากภาพยนตร์เรื่องใดมาก่อน

ที่มา :

TRIANGLE OF SADNESS by Ruben Östlund

Triangle of Sadness

More from us

นักเขียนประจำ The E World🌹