
ข่าวการปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Stadia ของกูเกิลที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านั้นทำให้วงการเกมเริ่ม “เสียดาย” ที่แพลตฟอร์มคลาวด์เกมมิ่งซึ่งเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงอนาคตการเล่นเกมนั้นต้องหายสาบสูญไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังเคยมีประกาศออกมาว่าแพลตฟอร์มจะไม่ปิดตัวลงอย่างแน่นอน แต่ในช่วงวันที่ 29 กันยายน 2022 ทางทีมงานก็ออกมาประกาศแบบ “กลับคำ” ว่าพวกเขาจะยุติการให้บริการสตรีมมิ่งเสียแล้ว !
โดยแพลตฟอร์มจะปิดให้บริการในวันที่ 18 มกราคม 2023 และทีมงานของ Stadia จะถูกย้ายเข้าไปอยู่ในแผนกอื่น ๆ ของบริษัทกูเกิลแทน การประกาศครั้งนี้สร้างความมึนงงให้กับวงการเกมเอามาก ๆ ถึงการตัดสินใจของกูเกิลในครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่แพลตฟอร์มมีการเปิดให้บริการมาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง
ที่มาที่ไปของ Stadia ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมาจนถึงช่วงประกาศปิดตัวเป็นอย่างไร คำตอบทั้งหมดอยู่ที่นี่แล้ว
กูเกิลเข้าตลาดเกมครั้งแรก
ในปี 2014 ทางกูเกิลเคยมีแผนที่จะพาบริษัทเข้าถึงกลุ่มเกมเมอร์ด้วยการเจาะตลาดไลฟ์สตรีมมิ่ง พวกเขาพยายามที่จะเทคโอเวอร์ “ทวิช” แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังที่กำลังเติบโตจากการมีผู้ชมไลฟ์เกมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องรายวัน สัญญาการซื้อขายครั้งนี้มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
แต่ไม่นานดีลนี้ก็ต้องล่มไป เพราะกูเกิลนั้นยังมีแพลตฟอร์ม “ยูทูบ” ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งอยู่แล้ว ทวิชเองก็อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน กูเกิลไม่สามารถครอบครองสองแพลตฟอร์มที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ ตามหลักข้อกฎหมายต้านการผูดขาดของสหรัฐอเมริกาที่มีข้อห้ามไว้
ดีลการเทคโอเวอร์ทวิชนั้นตกไปเป็นของ “แอมะซอน” ในท้ายที่สุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 แล้วยังได้รับการดูแลโดยแอมะซอนมาจนถึงทุกวันนี้
ทางกูเกิลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับดีลที่ล้มเหลวครั้งนี้ พวกเขาพยายามศึกษาหาแนวทางที่จะพาบริษัทตัวเองเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเกมอย่างจริงจังมากขึ้น พวกเขาใช้เวลาเกือบสองปีในการคิดโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมาเพื่อสานต่ออุดมการณ์นี้ให้สำเร็จ
Project Yeti สู่ Project Stream
ผ่านเข้าสู่ปี 2016 ทางกูเกิลเริ่มให้ความสนใจในการสร้างแพลตฟอร์มเกมมิ่งเป็นของตัวเอง พวกเขาได้สร้าง “Project Yeti” ขึ้นมาแบบลับ ๆ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการสตรีมมิ่งเกมรูปแบบใหม่ ในช่วงนั้นมีข่าวลือเกิดขึ้นมากมายในหน้าสื่อต่าง ๆ ว่าแพลตฟอร์มใหม่ของพวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานกับฮาร์ดแวร์รูปแบบใหม่ของกูเกิล ในขณะที่บางสื่อก็ตีความไปว่าอาจเป็นเกมคอนโซลแบบใหม่ หรืออาจเป็นฮาร์ดแวร์ที่ใกล้เคียงกับ Google Chromecast ก็เป็นได้ แต่เรื่องนี้ไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากกูเกิลเลยในปีนั้น
พวกเขาจ้าง “ฟีล แฮร์ริสัน” ผู้มีประสบการณ์สูงในวงการเกมที่เคยทำงานให้ทั้ง ไมโครซอฟท์ และ โซนี่ มาก่อน มาดูแลโปรเจกต์ใหม่ของพวกเขา แล้วให้แฮร์ริสันหาคนเข้ามาเป็นทีมงานเพิ่มตามอีเวนท์เกมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กูเกิลเข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงปี 2018
หลังจากที่โปรเจกต์เริ่มมีทีมผู้พัฒนาเพิ่มเข้ามา พวกเขาก็ได้ตั้งชื่อโปรเจกต์เป็น “Project Stream”พร้อมกับตั้งเป้าหมายสำหรับแพลตฟอร์มนี้ให้มีความ “แตกต่าง” จากบริการอื่น ๆ ของคู่แข่ง เช่น PlayStation Now, GeForce Now หรือ OnLive เป็นต้น โดยให้ลูกค้าสามารถใช้แพลตฟอร์มผ่านเว็บเบราเซอร์ Google Chrome และไม่ต้องติดตั้งซอฟท์แวร์ใด ๆ เพิ่มเลย ตัวแพลตฟอร์มจะใช้ฮาร์ดแวร์กราฟิก AMD Radeon ในการควบคุมระบบเป็นหลัก ส่วนเกมแรกที่พวกเขาใช้ทดลองเล่นผ่านแพลตฟอร์มคือเกม Doom (2016) โดยตัวเกมสามารถเล่นผ่านเบราเซอร์ได้เป็นปกติเหมือนกับว่าผู้เล่นดาวน์โหลดเกมตัวเต็มไว้ในพีซีอยู่แล้ว
Project Stream เปิดตัวครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2018 พวกเขาได้เชิญผู้คนให้มาร่วมทดลองระบบเบตาของพวกเขาด้วยการเล่นเกม Assassin’s Creed Odyssey ฟรี (และยังแจกเกมเต็มให้ผู้เข้าร่วมทดสอบทุกคนฟรีอีกด้วย) โดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องมีค่าความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมในการเล่นเกมผ่านเว็บเบราเซอร์ Chrome ได้
เปิดตัว Stadia
หลังจากที่ Project Stream เริ่มมีทิศทางชัดเจนขึ้นและมีการตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมทดสอบ ทีมงานขอโปรเจกต์นี้ที่นำโดยแฮร์ริสัน ได้เปลี่ยนชื่อโปรเจกต์ใหม่เป็น “Stadia” ส่วนทางกูเกิลก็ได้ตอบแทนทีมงานด้วยการจัดตั้ง Stadia Games and Entertainment Division ขึ้นมาในเดือนมีนาคม 2019 โดยให้ “เจด เรย์มอนด์” เป็นหัวหน้าแผนกนี้ พวกเขาได้ไปเปิดตัว Stadia เป็นครั้งแรกในอีเวนท์ Game Developers Conference ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเดียวกัน
Stadia Games and Entertainment Division มีหน้าที่หลักคือการนำเกมที่พวกเขาได้มาจากค่ายเกมต่าง ๆ มาพัฒนาใหม่ให้สามารถนำไปเล่นในแพลตฟอร์ม Stadia โดยสตูดิโอแรกของพวกเขาเริ่มก่อตั้งขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2019 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
แต่เท่านั้นก็คงไม่พอสำหรับพวกเขา ในเดือนธันวาคม 2019 ทางแผนกได้ซื้อ Typhoon Studios เพื่อมาช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้กับแพลตฟอร์มอีกด้วย ก่อนที่พวกเขาจะมีสตูดิโอที่สองในลอส แองเจลิส ในเดือนมีนาคม 2020 ที่มี “แชนนอน สตัดสติล” เป็นผู้ดูแลหลัก
Stadia กลายเป็นแพลตฟอร์ม “คลาวด์เกมมิ่ง” เต็มรูปแบบในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2019 และกลายเป็นก้าวแรกที่สำคัญของบริษัทกูเกิลที่เริ่มก้าวเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมเกมอย่างจริงจัง
ฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Stadia
Stadia คือแพลตฟอร์ม “คลาวด์ เกมมิ่ง” ที่สามารถเล่นผ่านเครื่อง Chromecast Ultra, แอนดรอยด์ทีวี, พีซี (เล่นผ่านเบราเซอร์ Chrome หรือเบราเซอร์อื่น ๆ ที่ใช้ระบบ Chromium), Chromebook (แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตที่ใช้ระบบ Chrome OS) ในขณะที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ต้องเล่นผ่านแอพพลิเคชันของ Stadia และสมาร์ทโฟน iOS สามารถเล่นผ่านเบราเซอร์ Safari ได้เลย ฐานการสตรีมมิ่งของ Stadia นั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของกูเกิลมาโดยตลอด
ผู้ใช้ Stadia สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ได้ฟรี มีตัวเลือกทั้งเกมฟรีและเกมต่าง ๆ ที่ต้องซื้อรองรับอยู่ในแพลตฟอร์ม หรือจะเลือกสมัครสมาชิกรายเดือน “Stadia Pro” เพื่อเล่นเกมด้วยความชัดภาพระดับ 4K บวกกับระบบภาพแบบ HDR ระบบเสียงแบบ Surround 5.1 พร้อมกับเฟรมเรทสูงสุดถึง 60 FPS ในขณะที่เกมฟรีทั้งหมดที่เคยเพิ่มเข้ามาในบัญชีก็จะคงอยู่ในคลังแบบถาวรทันที ทั้งหมดนี้คือ “สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกระดับโปร” ของ Stadia
นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้ทั้งระบบปกติและโปรยังสามารถเล่นโหมด Multiplayer โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มได้อีกด้วย ในขณะที่การควบคุมในเกมก็มีตัวเลือกให้ใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคีย์บอร์ดบวกเมาส์แบบปกติ หรือจะเป็นคอนโทรลเลอร์ Stadia ที่ออกแบบมารองรับแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ รวมถึงคอนโทรลเลอร์แบบ USB/Bluetooth แบรนด์อื่น ๆ ก็สามารถใช้งานในแพลตฟอร์มนี้ได้เช่นกัน
จุดแตกหักแรกของแพลตฟอร์ม
Stadia ได้รับการตอบกลับแตกต่างกันไปจากกลุ่มผู้ใช้และนักรีวิว บ้างก็บอกว่าแพลตฟอร์มนี้คือความหวังในการสตรีมมิ่งเกมที่ผู้คนจะเข้าถึงการเล่นเกมได้สะดวกขึ้น การเล่นเกมค่อนข้างลื่นไหลเหมือนกับเล่นในระบบคอนโซลหรือพีซีแบบปกติ
ในขณะที่อีกกลุ่มก็บอกว่าแพลตฟอร์มนี้ยังขาดฟีเจอร์และคอนเทนต์สำคัญ ๆ ไปมากมาย ผู้ใช้บางกลุ่มเองก็ไม่ต้องการที่จะเสียเงินให้กับแพลตฟอร์มแล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ครอบครองเกมไว้อย่างจริงจัง พวกเขาไม่ต้องการเสียเงินรายเดือนเพื่อไปเสียเงินค่าเกมในแพลตฟอร์มเพิ่มอีก
ภาพรวมตั้งแต่วันเปิดตัวแพลตฟอร์มมาจนถึงปัจจุบัน Stadia ไม่สามารถทำให้ยอดผู้ใช้ของแพลตฟอร์มเป็นไปตามเป้าหมายของตัวเอง พวกเขาไม่สามารถตีตลาดสู้กับคู่แข่งอื่น ๆ อย่าง PlayStation, Amazon หรือ Microsoft ได้เลย
ถึงแม้ว่าในขณะนั้นพวกเขามีแผนการที่จะพัฒนาเกมแบบเอ็กซ์คลูซีฟลงให้กับแพลตฟอร์ม รวมถึงมีแผนจะนำเกมจากค่ายเกมอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในระบบก็ตาม แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องเริ่มหยุดการเดินงานของสตูดิโอต่าง ๆ ในเครือของตัวเองไป ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือพวกเขาไม่สามารถลูกค้ามาใช้งานแพลตฟอร์มได้มากเท่าที่ควร
ตั้งแต่ปี 2021-2022 ที่ผ่านมา สื่อต่าง ๆ ก็เริ่มออกมาปล่อยข่าวลือว่า Stadia มีแผนที่จะปิดตัวลงเร็ว ๆ นี้ ทางกูเกิลเองก็ได้ออกมาประกาศในวันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมาว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แม้ว่าก่อนหน้านี้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021 กูเกิลได้ออกมาประกาศปิดตัว Stadia Games and Entertainment Division พร้อมกับการประกาศแยกทางกับ Typhoon Studios โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาอยากให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแนวทางไปเป็นการพัฒนาและจัดจำหน่ายเกมขึ้นมาเองก็ตาม ทำให้กระแสข่าวลือว่ากูเกิลจะปิดตัว Stadia ก็ยังคงมีมาเรื่อย ๆ หลายเดือนหลังจากนั้น
กูเกิลแยกทางกับ Stadia และสตูดิโอในเครือ
แฮร์ริสัน หนึ่งในผู้นำและรองประธานของ Stadia เองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจของกูเกิลในการยุบ Stadia Games and Entertainment Division รวมถึงการแยกทางกับ Typhoon Studios ว่าพวกเขาต้องการที่จะให้แพลตฟอร์มนี้ “คล้อยตาม” ตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือผู้พัฒนาเกมจากแหล่งภายนอก พวกเขาคิดว่านี่คือแนวทางระยะยาวที่ควรจะเป็นเพื่อให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตขึ้น
การประกาศปิดตัวของ Stadia ในช่วงปี 2021 ส่งผลกระทบโดยตรงให้กับทีมงานของพวกเขามากกว่า 150 คน หนึ่งในนั้นคือเรย์มอนด์ที่ลาออกจากกูเกิลในวันที่มีการประกาศ พวกเขาขาดแคลนเงินทุนที่จะมาสนับสนุนการทำงาน เพราะ Stadia ไม่ได้เป็นที่สนใจมากนักในกลุ่มเกมเมอร์ ทำให้ลูกค้ามีน้อย รายได้ก็น้อยตามไปด้วย พนักงานบางส่วนที่อยู่ในแผนกก็ต้องย้ายไปทำงานในแผนกอื่น ๆ ของกูเกิลแทน บางคนก็ตัดสินใจลาออกไปเลย นับแค่เดือนพฤษภาคม 2021 เดือนเดียว กลุ่มผู้นำในทีม Stadia ได้ลาออกจากกูเกิลไปถึง 6 คน
ในขณะที่ Stadia ก็ยังเปิดให้บริการตามปกติอยู่หลังจากที่ประกาศยุบแผนกเดิมไปแล้ว พวกเขาดำเนินงานต่อไปทั้ง ๆ ที่ต้องสูญเสียบุคลากรคนสำคัญไปมากมาย พวกเขาพยายาม “ชักชวน” ผู้พัฒนาเกมหลายเจ้าให้มาเข้าร่วมโปรแกรมของ Stadia โดยมีข้อเสนอในการหักค่าส่วนแบ่งเหลือเพียง 15% หากเกมของผู้พัฒนานั้น ๆ ทำรายได้รวมแล้วไม่เกิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ พวกเขาจะแชร์ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม Stadia Pro อีก 70% ให้กับผู้พัฒนาเกมต่าง ๆ ที่นำเกมเข้ามาในระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 (ส่วนแบ่งนี้จะเอาชั่วโมงการเล่นเกมนั้น ๆ ของผู้ใช้ Stadia มาช่วยคิดด้วย) และสุดท้าย พวกเขาจะมีส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้พัฒนาเกมต่าง ๆ ที่สามารถดึงผู้ใช้เข้ามาสมัครสมาชิก Stadia Pro ผ่านลิงก์เชิญต่าง ๆ อีกด้วย
หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2021 ทางกูเกิลได้จดทะเบียน Stadia ให้เป็นผลิตภัณฑ์แบบ “White-Label” (สินค้าหรือบริการที่สร้างโดยบริษัทหนึ่งแล้วให้บริษัทอื่นนำไปรีแบรนด์ใหม่ให้ดูเหมือนว่าพวกเขาสร้างมันขึ้นมาเอง) ในขณะที่ทางกูเกิลก็ได้ออกมาประกาศในทวิตเตอร์ว่าพวกเขายังมีแผนที่จะนำเกมดังอีกหลายรายการเข้ามาอยู่ใน Stadia ให้ได้ในปี 2022
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กูเกิลทำเพื่อกลบข่าวลือถึงการปิดตัวแพลตฟอร์ม Stadia ที่มีเข้ามาแบบไม่พักตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา แต่แล้วในวันหนึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อกูเกิลออกมาประกาศเรื่องสำคัญอีกครั้งในเดือนกันยายน 2022 นี้
ปิดตัวอย่างเป็นทางการ
วันที่ 29 กันยายน 2022 กูเกิลได้ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะปิดตัว Stadia โดยให้เหตุผลว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาไม่มีลูกค้ามากพอที่จะไปต่อได้ การบริการทั้งหมดจะยุติในวันที่ 18 มกราคม 2023 พร้อมกับชดเชยด้วยการคืนเงินเต็มจำนวนให้ผู้ใช้แพลตฟอร์ม รวมถึงลูกค้าที่สั่งซื้อฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ของ Stadia ผ่านร้านค้าของกูเกิลและ Stadia ฟีเจอร์ทั้งหมดหน้าร้านค้าต่าง ๆ ก็ต้องยุติตามกันไปด้วยนับตั้งแต่วันประกาศ
การประกาศครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งทีมงานของ Stadia ด้วยกันเองที่ไม่ได้รับรู้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ไปต่อแล้ว ในขณะที่ข่าวลือที่เคยเกิดขึ้นมากมายในวงการสื่อเกมก็กลายเป็นจริง ส่วนผู้พัฒนาเกมหลายเจ้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Stadia ก็เริ่มออกมาแสดงถึงความกังวลในเรื่องการเปิดตัวเกมใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มนี้ เรียกได้ว่าทั้งทีมงาน ผู้ใช้ รวมถึงค่ายเกมก็ทำตัวกันแทบไม่ถูกเลยเมื่อแพลตฟอร์มมีแผนต้องยุติไปแบบนี้ บางค่ายเกมก็เริ่มออกมาประกาศให้ผู้ใช้ Stadia สามารถโอนย้ายเกมของค่ายที่พวกเขาสั่งซื้อจากแพลตฟอร์มไปอยู่ในพีซีผ่านแพลตฟอร์มของค่ายเกมเองได้ฟรี ๆ เพื่อชดเชยปัญหาที่เกิดขึ้น
ส่วนเทคโนโลยีและโปรเจกต์ต่าง ๆ ของ Stadia ก็จะยังอยู่และจะถูกย้ายไปใช้งานในโปรเจกต์อื่น ๆ ของกูเกิลและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ของบริษัทแทน ในขณะที่เกมเมอร์รวมถึงผู้พัฒนาเกมจากค่ายต่าง ๆ ก็ยังมีความคาดหวังอยากให้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ Stadia ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งแน่นอนว่าโปรเจกต์ต่าง ๆ ของ Stadia ก็เคยถูกนำไปใช้เป็น White Label Product อยู่หลาย ๆ ครั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็จะมีค่ายเน็ตเวิร์กดังอย่าง AT&T ที่ให้ลูกค้าสามารถลองเล่น Batman: Arkham Knight ได้ฟรี ๆ ผ่านระบบ Stadia (โดยไม่ต้องเป็นสมาชิก Stadia) หรือจะเป็นทางค่ายเกม Capcom ที่นำเดโมเกม Resident Evil Village มาให้เกมเมอร์ได้ลองเล่นผ่านเว็บเบราเซอร์ต่าง ๆ ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า Stadia ไม่ได้หายไปแบบสูญเปล่าเลยทีเดียว ตราบใดที่มันยังเป็น White Label อยู่จนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าครั้งหนึ่งกูเกิลพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเกมอย่างจริงจัง แต่ก็น่าเสียดายที่พวกเขาไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้สำเร็จ ด้วยปัญหาเรื่องความคาดหวังที่สูงจากกลุ่มลูกค้า การขาดแคลนฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ควรจะไปได้ดีกว่านี้ รวมถึงรูปแบบการบริการที่ไม่ตอบโจทย์กลุ่มเกมเมอร์ในยุคนี้เพราะพวกเขามองว่ามัน “เสียเงินโดยไม่จำเป็น”
สุดท้ายนี้ หากใครอยากจะลองสัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมผ่าน Stadia ก็ต้องรีบไปลองทันที เพราะตัวแพลตฟอร์มจะยังอยู่กับเราไปถึงแค่เดือนมกราคมนี้แล้ว ไม่มีสามารถตอบได้เลยว่าหลังจากนี้ทิศทางของ Stadia จะเป็นอย่างไรต่อ หรือว่าตัวแพลตฟอร์มจะถูกนำไปปรับใช้ในรูปแบบอื่นให้เห็นอีกหรือไม่ ทุกอย่างก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตต่อไป
เรื่องโดย:
ที่มา:
Report: Google developing a game streaming service codenamed ‘Yeti’ with console hardware
Google’s Project Yeti hardware may be revealed at Game Developers Conference
Google confirms Stadia is not shutting down