สำรวจความคิด “เฮียโก้” นักพากย์อีสปอร์ต ที่บอกเล่าเรื่องราวนับล้านในเสี้ยววินาที

โดย
Nattanan Chankwang Nattanan Chankwang
เขียนเมื่อ 1 min read
สำรวจความคิด “เฮียโก้” นักพากย์อีสปอร์ต ที่บอกเล่าเรื่องราวนับล้านในเสี้ยววินาที

เมื่อพูดถึงกีฬาอีสปอร์ต “นักพากย์” อาจเป็นอาชีพหนึ่งที่หลายคนมองข้าม ทั้งที่งานดังกล่าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันออกมาเป็นภาพ รวมถึงการสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมในช่วงเวลาทำการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันแตกต่างจากนักพากย์กีฬาในแบบที่เราคุ้นชินกันโดยทั่วไป

เพียงเท่านี้คงมองเห็นชัดเจนแล้วว่า อาชีพนักพากย์กีฬาอีสปอร์ตไม่ใช่งานที่ง่ายเลย และคนหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าอาชีพนี้มีความท้าทายและแตกต่างออกไปจากงานอื่นที่เคยสัมผัสในวงการอีสปอร์ต คือ ประสิทธิ์ เกียรติวัชรวิทย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เฮียโก้” นักพากย์เกม RoV ชื่อดัง ที่เคยผ่านงานในด้านต่าง ๆ ทั้ง ผู้เล่น, โค้ช และผู้จัดการทีม ก่อนเข้ามารับบทบาทที่เปลี่ยนแนวคิดของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

The E World จึงเดินทางมาพูดคุยกับเฮียโก้ เพื่อพูดคุยถึงชีวิตและประสบการณ์ที่เขาได้สัมผัสในฐานะนักพากย์กีฬาอีสปอร์ต และแนวคิดที่หลอมรวมให้เขาสามารถวิเคราะห์เกมการแข่งขันได้ภายในเสี้ยววินาทีอันสั้น วันนี้คอลัมน์ Speak Out จะมาเผยเรื่องราวอันน่าทึ่ง ว่างานพากย์เกมนั้นเป็นงานท้าทาย ที่เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้

ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่คุณเป็นเด็ก อะไรคือสื่อบันเทิงที่คุณชื่นชอบมากที่สุด

สมัยนั้นเด็กนักเรียนมัธยมมันคงหนีไม่พ้นการ์ตูนกับเกม อย่างเวลาไปเรียนหนังสือ มันก็จะมีการคุยกับเพื่อนเรื่องการ์ตูนแบบ ตอนนี้ออกใหม่อ่านยัง อย่างตอนเด็กผมชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมาก พวก Boom, C-kids หรือหนังสือรวมเล่ม ยกตัวอย่าง โคนันคือมีเต็มบ้านเลย

ส่วนเกมตอนนั้นผมอยู่ประมาณชั้นม.1 เกม Ragnarok เพิ่งเปิดเซิร์ฟเวอร์อินเตอร์กับเซิร์ฟเวอร์ไทย แล้วเพื่อนคนหนึ่งบ้านเขามีอินเตอร์เน็ต มันก็ไปลองเล่นแรคแล้วสนุกมาก เขาก็มาคุยให้ฟัง ผมก็อยากเล่นมั่ง เพราะตอนนั้นติดเกมแบบ Counter-Strike มากกว่า คือยังไม่รู้ว่ามันมีเกมออนไลน์แบบนั้นด้วย

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคุณผูกติดกับสื่อบันเทิงการ์ตูนหรือเกม คุณหลงไหลอะไรในสื่อบันเทิงเหล่านี้

มันคือความบันเทิงละนะ ผมคิดว่าไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบอยู่แล้ว อย่างตัวเราอยู่บ้านโตมากับทีวี โตมากับเกม เห็นพ่อชอบเล่น Tetris (เกมจัดเรียงตัวบล็อคที่ตกลงมา) ผมก็อยากเล่นบ้าง หรือแม่ชอบดูทีวี เขาก็พาไปดูหนัง ผมว่าสื่อบันเทิงตรงนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแทบทุกคนอยู่แล้วนะ แล้วตอนที่ดูตอนนั้นมันก็สนุกนะ

ถ้ามองกลับไปในตอนนี้ ผมรู้แล้วว่ามันคือสิ่งที่เรียกว่า World Building (การสร้างโลกในสื่อบันเทิง) แต่ตอนเด็กเราไม่รู้เรื่องว่ามันเป็นอย่างไร ผมเลยไปนั่งคาดเดาว่าแบบต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ตัวละครนี้มันเกี่ยวข้องกับตัวละครอื่นยังไง แบบที่คนยุคนี้เขาชอบทำกันนั่นแหละ แค่ตอนผมเด็ก ๆ มันไม่มี YouTube ให้ดู เราก็นั่งคุยกับเพื่อนเฉย ๆ

ถ้าอย่างนั้นแล้วในตอนเด็ก เฮียโก้ถือเป็นคนรอบรู้ที่เพื่อนยกให้เป็น “เซียนเกม” หรือเปล่า?

ย้อนกลับไปตอนเด็กเลยคือ ไม่ แต่ถ้าเป็นตอนเล่นเกมจริงจังแล้ว ใช่ เพราะสมัยก่อนจะมีสิ่งที่เรียกว่า หนังสือบทสรุปเนื้อเรื่อง

เพราะแต่ก่อนมีเกมภาษาญี่ปุ่น ผมอ่านไม่ออก ก็ต้องซื้อหนังสือพวกนี้มาอ่าน แล้วบางทีอ่านแล้วมันเพลิน สมมติคืนนั้นแม่ไม่ให้เล่นเกม เอาเครื่องเพลย์เก็บไปแล้ว แต่บางทีผมยังอ่านบทสรุปต่อ ยิ่งพอเป็นเกมเล่นคนเดียว มันไม่มีเรื่องของผลการแข่งขัน เราก็ยิ่งเพลินไปกับการค้นหาความลับ หรือการเคลียร์ภารกิจที่ทำแล้วได้รางวัล

เมื่อมันเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาที่ผมเล่นเกม Dota ซึ่งตอนนั้นมันฮิตมาก แน่นอน ใครเล่นบอลเก่ง ใครเล่นบาสเก่ง ในห้องมันก็จะเท่ เกมมันก็ไม่ต่างกันมากนะ เพราะคนไหนในห้องที่มันเล่น Dota โหด ๆ มันก็จะแบบ เท่วะ คนนี้แม่งเซียน อย่างเพื่อนผมสองคนเป็นตัวทำเกมทั้งคู่ ส่วนเราเล่นตัวเลท สองคนนั้นก็แบกไป ผมก็ตีครีปไป แต่ในใจมันรู้สึกว่าสองคนนั้นเขาทำเยอะมาก

ผมก็อยากเท่ไง อยากชนะด้วย เราก็ไปซื้อบทสรุปเกมที่เป็นเล่มมาอ่าน ศึกษาว่าของแต่ละอย่างมันทำอะไรได้ ฮีโร่ตัวนี้เหมาะกับของแบบไหน ผมเล่นแบบไหนถึงจะชนะ

มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เกมโดยยังไม่ต้องศึกษาจากอินเตอร์เน็ต เพราะกว่าผมจะรู้ ว่า Shadow Shaman (ตัวละครหนึ่งใน Dota ) ต้องออกคฑาพายุ ก็เพราะไปอ่านหนังสือเจอเหมือนกัน มันก็เห็นชัดเลยว่า บางทีการรู้มากกว่าเขามันก็ทำให้เราได้เปรียบแล้ว

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เฮียโก้เริ่มศึกษาการเล่นเกมในมุมที่ลึกซึ้งกว่าคนอื่น

เพราะว่าโดยฝีมือแล้ว ผมไม่ได้เก่งเท่าชาวบ้านเขา ไม่ใช่เป็นคนคิดไว เป็นคนกดเกมเก่งอะไรขนาดนั้น ผมแค่อาศัยความไปเจอมาแล้วมันเวิร์ค เลยเอามาลองใช้แล้วมันใช้ได้ก็อาศัยพวกนั้นไปเรื่อย ๆ อย่างช่วงที่เกม Starcraft 2 เพิ่งออกใหม่ ผมดูการแข่งขันที่เกาหลีใต้แล้วชอบมาก รู้สึกว่าทำไมมันดูยิ่งใหญ่ มันดูจริงจังมากเลย แล้วคนพากย์เขาก็รู้ลึกมาก

ผมเลยไปนั่งศึกษา คือเกมมันโคตรยาก ยากมากเลย เพราะ Starcraft เป็นเกมที่มีปัจจัยเรื่องเวลาหรือลำดับการสร้างที่คุณรู้ก้ได้เปรียบแล้ว เพราะคุณจะสามารถสร้างยูนิตที่มากกว่าเขาในเวลาเท่ากัน แล้วทีมที่ยูนิตมากกว่ามันต้องได้เปรียบอยู่แล้ว

ถ้าเกิดผมอยากชนะ ผมต้องทำให้ตัวเลขตรงนี้มันสูงกว่าเขาเป็นเรื่องธรรมดา มันก็จะได้เปรียบกว่า เพราะฉะนั้นถ้าอยากชนะ อยากไต่แรงค์ ก็ต้องซื้อหนังสือมา เพราะว่าอยากเก่งกว่าเขา ก็ลองดู แล้วมันก็ได้ผล

คือผมอยากทำให้มันดีขึ้น มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนแหละ ผมทำอะไรอยู่ ทำไมเห็นคนอื่นทำได้ดี แล้วผมทำไม่ได้แบบเขาบ้าง ต้องทำยังไงถึงจะเก่งได้แบบเขา ผมลองทำดู เออ มันทำได้ แล้วผมพัฒนามันแฮปปี้

เหมือนคนที่อยากจะเล่นเก่งขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือเล่นให้มากขึ้น แต่นอกจากเล่นให้มากขึ้น คือต้องเล่นยังไง คนที่เก่งเขาเล่นยังไง ผมเล่นมากขึ้นเพื่อให้ผมใกล้เคียงสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เล่นให้มากขึ้นเฉย ๆ แล้วจบ

คิดว่าการศึกษาเกมอย่างลึกซึ้งส่งผลให้คุณก้าวมาทำงานเป็นนักพากย์เกมมากน้อยแค่ไหน

ย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ ผมชอบอ่านการ์ตูนมาแล้วไปคุยกับเพื่อนว่า ได้อ่านยัง? มันเป็นฟีลลิ่งที่ผมอยากจะแชร์กับคนอื่นว่ามันมีอะไรที่เจ๋งนะ งานตรงนี้ก็ไม่ต่างกันมากนะในความคิดของผม

แต่ถ้าย้อนกลับไปถามตัวเองว่าอยากเป็นนักพากย์ไหม ตอนนั้นผมไม่ได้คิด เพราะยังอยู่ในโลกของการแข่งขันอยู่ ผมอยากเล่นเกมแล้วชนะอย่างเดียว มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่อยากถ่ายทอดอะไรขนาดนั้น คิดแค่ว่าผมอยากชนะก่อน เพราะตอนแรกผมเป็นผู้เล่น เสร็จแล้วผมไปเป็นโค้ช แล้วไปเป็นผู้จัดการทีม บทบาทนักพากย์มันตามมาทีหลัง จับผลัดจับผลูพอสมควร

ย้อนเล่าประสบการณ์พากย์เกมครั้งแรกให้ฟังหน่อย เรื่องราวในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นเป็นการแข่งขัน RoV รอบโปรลีก ทางทีมงานชื่อพี่โก้เหมือนกัน เขาถามว่าสนใจขึ้นมาวิเคราะห์อะไรหน่อยไหมในช่วงที่ทีมไม่ได้แข่ง ผมก็นึกว่าขอสัมภาษณ์หลังจบเกมอะไรทำนองนี้ แต่สรุปคือวันจริงเขาให้ไปขึ้นพากย์ด้วย คือคำว่าวิเคราะห์อะไรหน่อยไหม เป็นการชวนให้ขึ้นพากย์ในฐานะไมค์ที่ 3 ผมก็โอเค (หัวเราะ) เลยเหมือนกับไม่ได้เตรียมตัวอะไรไปเลย แต่ต้องขึ้นไปทำ ก็ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่

มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกและแตกต่างมากนะ เพราะที่ผ่านมาผมคุยแต่กับคนที่เขาเล่นเกมเก่งมาก ๆ อยู่แล้ว เพราะผมทำงานเป็นโค้ช พูดตรงๆ คือเราทำงานกับคนที่เล่นเกมเก่งกว่าตัวเองด้วยซ้ำ แล้วคราวนี้พอขึ้นเป็นเวทีพากย์ เรื่องราวมันตรงกันข้ามเลย

เพราะผมต้องคุยกับคนทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่อันดับสูงสุดหรือต่ำสุด ผมมีไมค์เดียวที่ต้องพูดกับคนทุกคน แล้วผมต้องพูดให้มันกว้างที่สุด ซึ่งตอนนั้นเราไม่เคยคิดอะไรพวกนี้เลย เพราะมัวแต่มองว่านักพากย์อีกสองคนเป็นชั้นเซียนอยู่แล้ว

ถ้าอย่างงั้น ผมไปเสริมเฉย ๆ ก็ได้ แค่ทำสิ่งในที่ตัวเองถนัด สรุปคือคนฟังไม่รู้เรื่อง เพราะผมคิดไปเองว่าคนน่าจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่แล้ว แต่มันยังมีอะไรอีกเยอะเลยที่ผมข้ามไป แล้วถ้าผมปูพื้นฐานให้เขาก่อน เขาจะเข้าใจมากกว่านี้เยอะเลย

ดูเหมือนว่านักพากย์เกมจะไม่ใช่งานที่ง่ายเลย แม้เคยผ่านประสบการณ์โค้ชทีมระดับแถวหน้ามาแล้ว

ความจริงสองงานนี้มันต่างกันมาก ๆ ผมมองว่ามันเป็นการเปลี่ยนงานไปคนละแบบเลย เพราะว่าเวลาพากย์ ผมไม่ได้พากย์ให้คนที่ฟังเล่นเกมชนะ ผมพากย์ให้คนที่เขาฟังสนุก มันคือความบันเทิง เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายของสองงานมันไม่เหมือนกัน ผมต้องปรับแนวคิดใหม่ทั้งหมด

มันเลยเป็นเหตุผลที่ครั้งแรกผมพากย์ไม่เวิร์คเลย แม้แต่ตัวเองตอนลงจากเวที เรายังรู้สึกว่าไม่น่าจะดีนะ เมื่อกลับไปถามเสียงตอบรับจากเพื่อนๆ จากคนดู เออ ก็ไม่เวิร์คจริง ๆ

ถึงแม้คนที่เขาเก่งประมาณหนึ่งอยู่แล้ว และอยากได้ข้อมูลเพิ่ม เขาจะแฮปปี้กับการพากย์แบบนั้น แต่คนส่วนใหญ่ยังไงเขาก็ยังเอาสนุกก่อน แล้วผมรู้สึกว่า ตัวเองทำตรงนั้นไม่ได้เลยในวันนั้น ก็พยายามปรับในวันที่สอง เออ มันก็ดีขึ้นประมาณหนึ่งเลย เสียงตอบรับกลับมามันก็ดีขึ้น ผมก็แฮปปี้

การปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่ในฐานะนักพากย์ยากง่ายมากน้อยแค่ไหน ?

ความจริงไม่ใช่เรื่องยากอะไรขนาดนั้น เพราะผมไม่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่แล้ว ผมแค่ต้องปรับแนวคิดว่าผมขึ้นมาตรงนี้เพราะอะไร ? เพื่ออะไร ? เมื่อผมรู้แล้วว่าจุดมุ่งหมายของคนที่ถือไมค์อยู่หน้าคืออะไร มันก็เปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเพิ่ม

มันจะเหมือนเวลาผมดูแข่งขันอีสปอร์ต ถ้าผมไม่ได้เป็นคนแข่งเอง คุณไม่จำเป็นต้องเครียดเรื่องแทคติกก็ได้ ผมดูแข่งเกมเหมือนผมดูหนัง เหมือนดูการ์ตูน

ผมดูว่าเนื้อเรื่องระหว่างทีม A กับทีม B เป็นอย่างไร ทีมไหนเนื้อเรื่องมันมายังไง มีตัวละครในเรื่องนี้ 10 คน คาแรกเตอร์เขาเป็นอย่างไรบ้าง ถนัดแนวไหน ชอบเล่นตัวอะไร แล้วในเกมช็อตนั้นเขาทำออกมาชนะหรือแพ้ เขาพลาดหรือเขาทำดี สิ่งเหล่านี้มันล้อมรอบตัวเกมอีกทีหนึ่ง คือไม่ว่าจะเป็นเกมอะไร สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่

อีกอย่างคือผมต้องทำความเข้าใจว่าตัวเกมมันเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของผู้เล่นยังไง เช่น ผู้เล่นคนนี้เป็นสายดุดัน เป็นสายฆ่า เขาจะหยิบตัวละครตัวไหนที่มันสื่อสารสิ่งนั้นออกมา อธิบายว่าทำไมผู้เล่นคนนี้ถึงเล่นตัวต้นเกมเก่ง ? ทำไมผู้เล่นคนนี้เขาเล่นตัวที่มันบุกตะลุยแล้วคล่องตัว ? ทำไมผู้เล่นคนนี้ถึงเล่นตัวที่คอนโทรลทีมไฟต์ได้ดี  ทำไมเขาถึงนิ่งขนาดนั้น ?

ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันทำให้คนอินไปกับเนื้อเรื่อง อินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย มันยิ่งทำให้ความตื่นเต้นในการดูเกมเพิ่มขึ้นไปอีก

การพากย์เกมมีความคล้ายคลึงกับการเล่าเรื่องมากแค่ไหนในมุมมองของคุณ เพราะเท่าที่ฟังมา ดูเหมือนว่าคุณจะอธิบายอาชีพนักพากย์ในมุมมองการเล่าเรื่องมาก

มันก็คือการเล่าเรื่องจริง ๆ นั่นแหละ เพราะการแข่งขันอีสปอร์ตมีสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสนามมากมาย แต่มันไม่ได้อธิบายออกมาเป็นคำพูดไง ผมแค่ต้องพยายามมองให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วผมเล่าให้คนดูฟังว่า จังหวะนี้ที่มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างความคิดของคนสองคน คนนี้เขาคิดอะไร แล้วคนนี้เขาคิดอะไร เมื่อเขามาต่อสู้กัน ถึงเวลาต้องเฉือนกันแล้ว แล้วใครออกมาเหนือกว่า

เพราะไม่มีนักแข่งคนไหนที่ชนะในจังหวะดวลกันหนึ่งต่อหนึ่งที่จะลุกขึ้นมาจากเก้าอี้แล้วบอกว่า ฉันชนะเพราะสิ่งนี้ มันไม่มี นักพากย์ต้องเป็นคนทำสิ่งนั้นให้คนอื่นเข้าใจ เพราะเกมที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่ได้มีเส้นเรื่องเดียว มันมีเป็นสิบเส้นเรื่องที่มันวิ่งพัวพันกันมั่วไปถึงจุดจบ ผมต้องพยายามสื่อสารให้คนดูเข้าใจว่าคนในสนามเขาคิดอะไรอยู่

ยกตัวอย่างการ์ตูนหรือหนังที่มีการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ ฟีลลิ่งมันก็คล้ายอย่างนั้นนะ เพราะเวลาผมดูมวย เวลาเขาต่อยกัน ผมไม่เห็นหรอกว่าเขาคิดอะไร แต่ในการ์ตูนมันมีกรอบคำพูดขึ้นมาเลยว่าในหัวเขาคิดอะไรมาบ้าง เหมือนที่เขาชอบแซวกันว่า สแลมดังก์ ดังก์ลูกนึงหมดไปหนึ่งเล่ม เพราะในหนึ่งแอคชั่นนั้น มันมีเรื่องราวก่อนหน้านั้นที่พามาให้ถึงจุดนั้นเยอแยะมาก

ถ้าผมตัดสักเสี้ยวหนึ่งตรงนั้นมาได้ มันก็มีโอกาสที่เรื่องราวเหล่านั้นจะเข้าถึงใจคนที่ฟังอยู่ได้นะ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริงตลอดเวลา แค่มันไม่มีคนถ่ายทอดตรงนี้ออกมาให้คนอื่นได้ฟัง

มีข้อได้เปรียบตรงไหนบ้างจากการทำงานในวงการเกมมาหลายบทบาท จนส่งผลให้คุณสามารถทำงานนักพากย์ได้อย่างทุกวันนี้

คิดว่าประสบการณ์ เพราะว่าผมเคยแข่งเกมมาก่อนด้วย ผมก็พูดคุยและเป็นที่ปรึกษาให้คนที่เขาแข่งเยอะเหมือนกัน เพราะในวงการอีสปอร์ตหลายคนก็เริ่มจากเป็นเด็กเล่นเกมร่วมกันมาก่อน เลยได้พูดคุยได้แลกเปลี่ยนเข้าใจวิธีคิดของใครหลายคนมากขึ้น ทำให้ผมมองเห็นอะไรได้กว้างขึ้น

การที่ผมเคยอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ มันทำให้เข้าใจว่าคนอยู่ในสนามตอนแข่งเขาคิดอะไร แล้วตอนชนะเขารู้สึกอย่างไร ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ผมพอจะเข้าใจได้ หรือต่อให้มันเป็นเกมที่ผมไม่ได้เล่นบ่อย แต่ถ้าผมเข้าใจแนวคิดของเขา ผมดูว่าตอนที่เขาสตรีมเกมนี้เขาคิดอะไรอยู่ มันคือการเข้าใจตัวเกมเข้าใจวิธีการแสดงออกของผู้เล่นแต่ละคนที่ทำให้การเล่นแต่ละครั้งออกมามันเป็นแบบนั้นได้

แล้วข้อเสียเปรียบล่ะ ?

ทางกลับกัน มันก็ทำให้บางสิ่งที่หลายคนเขาสนุก ผมก็ไม่สนุกกับมันแล้ว มันเหมือนเราแลกความชอบหนึ่งกับอีกความชอบหนึ่ง เช่นแทนที่ผมดูจังหวะแอคชั่นแล้วรู้สึกว่า โคตรเจ๋งเลย กลายเป็นว่าผมไม่สามารถรู้สึกกับสิ่งนั้นได้เต็มที่เพราะมัวไปโฟกัสกับเรื่องอื่นอยู่ มัวไปโฟกัสกับรายละเอียดอยู่ มันปลูกฝังอยู่ข้างใน กลายเป็นว่าผมไม่ได้ไปโฟกัสกับความรู้สึกสั้น ๆ ตรงนั้น

แต่ถ้าผมไปดูแข่งเกมที่ตัวเองไม่เก่ง เช่น Street Fighter ผมจะยังสามารถสนุกกับอะไรแบบนั้นได้ เพราะเราไม่เก่ง เลยไม่รู้ว่าเราต้องโฟกัสอะไร แต่ดูแล้วมันก็สนุกอยู่ดี เพราะเมื่อผมไม่เห็นอะไรที่ต้องโฟกัส ผมก็ยังสามารถสนุกกับอะไรที่มันไม่ต้องลึกมากได้ แค่ต้องเปลี่ยนหัวคิดนิดนึง

ประสบการณ์ไหนที่คุณได้สัมผัสในฐานะนักพากย์ แต่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเมื่อเป็นผู้เล่นหรือโค้ช

ฝรั่งเขาจะใช้คำว่า "keep your finger on the pulse" คือผมต้องจับชีพจรของคนหมู่มากที่กำลังดูสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะตอนแข่งเองนี่คือสิ่งที่ไม่ต้องสนใจเลย ผมห้ามผู้เล่นในทีมด้วยซ้ำ

เพราะผมไม่อยากให้คนที่ดูแลอยู่ไปนั่งอ่านแชท มันเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ทำให้ผมพัฒนาขึ้นสักเท่าไหร่ในฐานะเพลเยอร์ แถมยังมีผลกับจิตใจด้วย เพราะความเห็นมันไม่ได้มีแค่บวก มันมีด้านลบด้วย แต่พอเป็นนักพากย์ ทุกความเห็นมันสำคัญขึ้นมา ผมต้องเช็คว่าตอนนั้นองค์รวมความรู้สึกของของผู้ชมเป็นอย่างไร

ถึงตรงนี้ คุณมองตัวเองในฐานะนักพากย์กีฬาอีสปอร์ตอย่างไรบ้าง

แฮปปี้นะ แฮปปี้มาก เพราะคนชอบสิ่งที่ผมทำ คือผมรู้ว่ามันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบแหละ แต่ถ้าเปรียบเทียบงานเป็นขนม ผมก็เป็นรสหนึ่งในสินค้าเดียวกัน ผมอาจเป็นขนมสีนี้ เพื่อน ๆ ผมอาจเป็นอีกสีหนึ่ง มันเป็นคนละรสชาติกัน คนดูมันมีตั้งแต่ 1-100 มีทุกประเภทเลย เพราะฉะนั้น มันไม่มีทางเลยว่าคนจะชอบเหมือนกัน

ความจริงตัวอย่างที่ชัดมากในเรื่องนี้คือกีฬาฟุตบอล เพราะคนที่ดูฟุตบอลมันทุกเพศทุกวัย แล้วมันไม่ใช่ทุกคนเล่นบอลเก่งหรือเล่นบอลเป็น แต่คนที่ดูบอลแบบวิเคราะห์จริงจังกับคนที่เขาดูเอาสนุกอย่างเดียว ทุกคนก็สนุกกับฟุตบอลเหมือนกันใช่ไหม

ถ้าคุณรู้เยอะแล้วคุณอยากรู้เยอะมันย่อมสนุกอยู่แล้วแหละ แต่ในทางกลับกัน มันก็มีมุมที่คุณไม่ต้องไปรู้อะไรลึกแล้วสนุกกับฟุตบอลได้เหมือนกัน มันไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเวลาวิ่งบอลอยู่กับเท้าเขายังไง เขาเตรียมแผนมายังไง อย่างตัวผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรพวกนี้เลย แต่ผมชอบตอนเห็นนักบอลคนนี้มันกระโดดยิงโคตรสวยเลย ก็รู้สึกว่า จังหวะนี้เขายิงโคตรมันเลย

คือเหตุการณ์ตรงหน้ามันมองได้หลายมุมมองมาก แล้วในเมื่อทุกมุมมองมันเวิร์ค มันไม่มีทางไหนถูกต้อง คุณสนุกกับทางไหนก็สนุกไปเลย ถ้าคุณสนุกกับเรื่องนี้แบบนี้ แล้วอีกคนจะสนุกกับอีกเรื่องนี้ในอีกแบบหนึ่ง มันก็ไม่ผิดนะ

สำหรับผม งานพากย์มันเป็นแค่ภาพสะท้อนของตัวผม เกมสะท้อนหน้าผมไปยังผู้ชม ผมก็เป็นแค่กระจกอันหนึ่ง เหมือนเวลาผมไปสวนสนุกแล้วมีห้องกระจกที่กระจกแต่ละบานมันบิดเบี้ยวไม่เหมือนกัน ผมก็เป็นแค่กระจกทรงหนึ่งเท่านั้น ทุกคนก็มีกระจกที่เป็นทรงของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนตัวผม ตัวทุกคนออกมาเป็นแบบไหน ผมมองเห็นอะไร มันก็คือมุมมอง

ถ้าผมยอมรับได้ว่าสิ่งที่ผมนำเสนอออกไป มันมีคนกลุ่มหนึ่งชอบ แล้วกลุ่มที่เขาไม่ชอบผมเขามีตัวเลือกอื่น มันก็ไม่เป็นไรนะ เพราะฉะนั้นผมก็โฟกัสแค่สิ่งที่ผมต้องการนำเสนอออกไป แล้วมันก็เวิร์ค มันก็มีกลุ่มคนที่เขาแฮปปี้กับผม

ย้อนกลับไปมองตัวเองตอนเด็กที่ชอบเสพเรื่องราวในเกมหรือการ์ตูน คิดว่างานนักพากย์ถ่ายทอดตัวตนของคุณออกมาแค่ไหน

ผมเป็นคนชอบพูดชอบเขียน เป็นคนคิดชอบไปเรื่อย หัวมันฟุ้ง ไม่เคยหยุดคิด เวลาผมเห็นสิ่งต่าง ๆ ผมจะสงสัยว่ามันคืออะไร ? ผมก็ไปทำความเข้าใจกับมัน กูเกิลหาข้อมูล ดูว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับสิ่งนี้ ตรงกับสิ่งที่ผมเห็นไหม แล้วประสบการณ์ส่วนตัวของผมเป็นอย่างไร

เมื่อมันตกผลึกเป็นก้อน ผมก็อยากจะเล่าสิ่งนี้ออกไป เพราะผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจนะ แล้วอีกอย่างผลึกนี้มันก็มาจากข้างในตัวผมคนเดียว ผมอยากรู้ด้วยว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับมัน ผลึกตรงนี้อาจจะยังไม่รอบด้าน กำลังรอให้คนอื่นเติมไอเดียเพิ่ม ไอ้สิ่งนี้มันก็ถูกขัดเกลาให้มันรอบด้านขึ้นอีกได้

มันถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันเรื่อย ๆ ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่สนุก ผมคิดอะไร คนอื่นคิดยังไง ทุกคนช่วยกันดู ตรงไหนเวิร์ค ตรงไหนไม่เวิร์ค แล้วไอ้ผลึกตรงนั้นที่ตกลงมามันก็สวยงามขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่าอย่างนั้น

More from us

นักเขียนประจำ The E World🌹
รักหมารักแมวรักการเล่นเกม!