“สิทธิในการซ่อม” ความท้ายทายของผู้ผลิตเทคโนโลยี

โดย
Surasak Tulathiphakul Surasak Tulathiphakul
เขียนเมื่อ 2 min read
“สิทธิในการซ่อม” ความท้ายทายของผู้ผลิตเทคโนโลยี

เมื่อช่วงปี 2021 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ได้เริ่มบังคับใช้กฎหมาย “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair) อย่างเป็นทางการ หลังผ่านการรับรองไปเมื่อปี 2019 เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำให้สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถใช้งานได้นานขึ้น ผ่านการซ่อมบำรุง

และล่าสุดนี้ ทางสหภาพยุโรป หรือ EU ได้มีการออกกฎหมาย “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair) มาตราใหม่ ให้มือถือทุกยี่ห้อที่วางขายในยุโรป ต้องออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ด้วยตัวเอง เป็นการตอกย้ำแนวคิดการสนับสนุน “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair) เข้าไป

ในครั้งนี้เรามาดูกันแบบย่อ ๆ ถึงเรื่องราวของ “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair) กฎหมายว่าด้วยทางเลือกในการจัดการกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่าจะไปอยู่ที่ไหนถ้ามันเกิดงอแงขึ้นมา


“สิทธิในการซ่อม” คืออะไร?

เป็นกฎหมายว่าด้วยการที่ผู้ใช้สินค้าต่าง ๆ สามารถที่จะซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เอง หรือนำไปซ่อมแซมตามร้านอิสระ แทนการซื้อใหม่หรือนำเข้าศูนย์ซ่อมของแบรนด์โดยตรง พร้อมทั้งเปิดให้สามารถเข้าถึงข้อมูลการซ่อมบำรุงและอะไหล่ต่าง ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น

“สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair) มีเป้าหมายหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อคือ… ผู้ใช้มีสิทธิ์ที่จะซ่อมของทุกอย่างที่เป็นเจ้าของ และยุติการ “ผูกขาด” ของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านั้น ๆ ที่มักเรียกเก็บค่าอะไหล่และบริการที่ไม่สมเหตุสมผล และสูงกว่าที่ควรจะเป็น เหมือนเป็นการบังคับให้ซื้อสินค้ารุ่นใหม่ทางอ้อม

โดยครั้งล่าสุดที่กลายมาเป็นวาระประจำภูมิภาคเลยก็คือ การบังคับใช้กฎหมาย “สิทธิในการซ่อม” ของสหภาพยุโรปในปี 2021 โดยมีการจำกัดความเอาไว้ 3 ข้อด้วยกัน

  1. สิทธิในการซ่อมในระยะเวลาประกัน - สิทธิในการซ่อมสินค้าที่บกพร่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าสินค้ายังอยู่ในระยะเวลาที่รับประกัน ถ้าสาเหตุมาจากการผลิตเอง
  2. สิทธิในการซ่อมหลังหมดประกัน - หลังสินค้าหมดประกัน ผู้ผลิตยังคงต้องรับซ่อมแซมสินค้าดังกล่าว เพื่อป้องกันเรื่องค่าซ่อมที่สูงเกินไป, อะไหล่ไม่มี, ไม่มีศูนย์ซ่อม หรือสินค้าออกแบบมาให้ซ่อมไม่ได้
  3. สิทธิในการซ่อมด้วยตัวเอง - ลูกค้าสามารถซ่อมแซมได้เองโดยไม่ต้องพึ่งช่างหรือตัวแทน ซึ่งบริษัทต้องให้ข้อมูลทางเทคนิค เช่นคู่มือ และการจัดจำหน่ายอะไหล่

อย่างไรก็ดี นี่เป็นการจำกัดความในฝั่งสหภาพยุโรปเท่านั้น และยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถให้ช่างอิสระเข้าถึงเรื่องมือในการตรวจสอบแก้ไขได้ และต้องมีอะไหล่พร้อมในระยะเวลาที่กำหนดหลังสินค้ารุ่นนั้น ๆ วางขาย

ถ้าให้เว่ากันซื่อ ๆ “สิทธิในการซ่อม” ไม่ใช่ของใหม่ แต่มันถูกลืมมาโดยตลอด และถูกชักชวนแบบอ้อม ๆ ให้ซื้อสินค้าในรูปแบบ “ใช้แล้วทิ้ง” ในฐานะทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าการซ่อมของเดิมให้กลับมาทำงานได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในเรื่องเงิน, ระยะเวลา หรืออะไหล่คงเหลือของโมเดลนั้น ๆ

เกิดอะไรขึ้น? ก่อนมีการพูดถึง “สิทธิในการซ่อม”

ที่มาภาพ : https://auto.economictimes.indiatimes.com/news/general-motors-to-boost-electric-vehicle-profile-with-40000-charging-stations-in-us-canada/87286587

เรื่องราวของ “สิทธิในการซ่อม” จะเห็นได้ว่ามีหลาย ๆ บริษัทที่พยายามสงวนสิทธิ์ในการซ่อมและอะไหล่ของตัวเองมานานแล้ว แรกสุดเลยคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ General Motors เริ่มที่จะออกแบบรถให้มีคุณภาพต่ำกว่า แล้วออกรุ่นใหม่รายปี เพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนรถบ่อย ๆ ซึ่งมันกระตุ้นยอดขายรถของ General Mortors จนแซงหน้า Ford ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอเมริกาตอนนั้น ที่เดิมออกแบบรถให้ทุกรุ่นสามารถใช้อะไหล่แทนกันได้ไปได้ และต่อมาก็รับไอเดียของ General Mortors นี้มาใช้กับรถของตัวเอง

ช่วงระหว่างปี 1910-1920 Ford ได้พยายามจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายและเครือข่ายบริการ ที่ได้รับการรับรอง เพื่อเพิ่มยอดขายอะไหล่ที่ผลิตจากแบรนด์โดยตรง แทนที่จะเข็นไปหาอู่ซ่อมรถอิสระและอะไหล่จากผู้ผลิตเจ้าอื่น พร้อมอัตราค่าธรรมเนียมงานซ่อมเล็กใหญ่เท่ากันหมด แต่ถ้ารวม ๆ ราคาก็จัดว่าแรงกว่าอู่นอกเครือข่าย พร้อมกับการอัปเดตโมเดลรถใหม่บ่อย ๆ ที่ทำให้ตามอู่ไม่กล้าที่จะสั่งอะไหล่มาเก็บไว้… และด้วยการออกรถรุ่นใหม่ ๆ บ่อยนี่แหละ เลยเหมือนเป็นการบังคับกลาย ๆ ว่า “ซ่อมรถเก่าไม่ตอบโจทย์ใช่มะ? ซื้อรถใหม่กูสิ… อะไหล่มีนะ” ส่งผลให้การบำรุงรักษาเริ่มมีความสำคัญน้อยลง เหมือนกับสิทธิ์ทางกฎหมายในการซ่อมแซม โดยเฉพาะในช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ที่ลูกค้าเลือกที่จะซ่อมสิ่งต่าง ๆ เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย และมันก็ลามไปอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เริ่มเอาแนวคิดของ General Mortors มาใช้ ในปี 1956

ในปัจจุบัน มีหลาย ๆ บริษัท โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ มักพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้เข้าทำการซ่อมแซมเอง เริ่มตั้งแต่นโยบายหลังการขายที่ระบุไว้ว่าประกันขาดแน่ถ้าแกะเอง ชิ้นส่วนซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ ที่มีแต่ช่องศูนย์เท่านั้นที่มีเครื่องมือถอด เช่นสกรูหัวประหลาด ๆ ที่แม้ตอนนี้ชุดไขควงตามท้องตลาดมีแทบทุกหัว ไปจนถึงการล็อกในตัวซอฟต์แวร์ เพื่อป้องกันการใส่ชิ้นส่วนข้ามเครื่อง แม้รุ่นหรือโมเดลเดียวกัน… และแน่นอน ตอนนี้มีคนทำโปรแกรมปลดล็อกได้แล้ว!

ซึ่งนี่ยังไม่นับเรื่องของเทคโนโลยีในตัวสินค้าที่ถูกออกแบบมาให้ตกรุ่นไว เพื่อบีบบังคับให้ผู้ใช้คิดที่จะซื้อสินค้ารุ่นใหม่อีกด้วย

การมาของนโยบาย “สิทธิในการซ่อม” ของยุโรป

ที่มาภาพ : https://repair.eu/it/news/new-ecodesign-regulations-5-reasons-europe-still-doesnt-have-the-right-to-repair/

ถ้าจะถามว่ากฎหมายนี้ที่สหภาพยุโรปได้ประกาศบังคับใช้ไปนั้น มันฟังดูเหมือนข่าวดี เพราะมันเป็นทางเลือกที่ดูโอเคกว่าการควักเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อใหม่ทั้งเครื่อง แทนที่จะต้องซื้อใหม่ทั้งเครื่อง หรือแบกรับค่าใช้จ่ายการซ่อมที่สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลหลังหมดประกัน ซึ่งบางครั้งส่วนที่มีปัญหาก็เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ และอะไหล่ส่วนดังกล่าวก็ราคาก็ไม่ได้เยอะมาก

อย่างเคสของคนใช้มือถือหรือ Notebook หลายราย ที่มีปัญหาจอเสีย ซึ่งเกิดมาจากสายแพที่ขาด แต่พอเข้าศูนย์กลับต้องเปลี่ยนจอทั้งชุด ทั้งที่แค่เปลี่ยนสายแพก็จบแล้ว เช่นกรณีของ iPhone ที่ต้องเปลี่ยนทั้งกระบิ ที่อเมริกาก็ตีไปหลักหมื่นบาทแล้ว ทั้งที่แค่สายแพสำหรับเปลี่ยน มีราคาน้อยมาก หรือประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ที่พัดลม Notebook มีปัญหา ศูนย์บริการอยู่ไกล แถมประกันเครื่องก็หมดอีก จากการที่ได้คุยกับพี่ที่เคยทำงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์และรู้วิธีซ่อม เลยทำให้พบว่าอะไหล่พัดลมตีราคาได้ข้างละไม่เกิน 500 บาท เท่านั้น (แล้วแต่รุ่น) ในขณะที่ยกเครื่องไปซ่อมศูนย์ ต้องเปลี่ยนชุดทำความร้อนทั้งชุด แถมต้องรอคิวอย่างเร็วก็เป็นสัปดาห์ สำหรับคนที่ไม่มีรถแบบผู้เขียน ถ้าศูนย์อยู่ใกล้ย่านสำคัญในเมืองหรือแนวรถไฟฟ้ายังพอทนได้ แต่ถ้าอยู่นอกเมืองอย่างสมุทรปราการนี่คือเครียดแน่นอน ไกลรถไฟฟ้า แถมค่ารถไปไม่ใช่น้อย ๆ เว้นแต่จะเป็นคนพื้นที่ ที่รู้สายรถเมล์ดี

ถ้าเราลองคิดว่าทางผู้ผลิตช่วยรองรับเต็มที่แบบสหภาพยุโรป ที่มีทั้งคู่มีการซ่อม และมีอะไหล่แท้ขาย โดยไม่ต้องไปเสี่ยงดวงสั่งจีนที่นอกจากจะนานแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะใช้ได้จริงมั้ย หรือช่างร้านนอกจะซ่อมเป็นรึเปล่าก็ไม่รู้ ในทางหนึ่งมันเป็นประโยชน์กับลูกค้าจริง ๆ ที่พวกเราจะไม่ต้องไปควักเนื้อซื้อเครื่องใหม่เพื่อรอวันเปลี่ยนทั้งเครื่องอีก

แต่ก็ใช่ว่ามันจะดีแบบ 100% เพราะการที่บริษัทให้คนอื่นที่ไม่ใช่ช่างของศูนย์แกะเครื่องซ่อมกันเอง มันไม่ได้รับประกันว่าคนซ่อมจะไม่ทำพลาดจนเกิดปัญหาใหม่หรือกลับมาแก้ไขไม่ได้อีกเลย เพราะถ้าลูกค้าหรือช่างนอกแก้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเป็นหน้าที่ช่างศูนย์มาเก็บกวาดปัญหาที่หนักกว่าเดิม ถ้าเครื่องหมดประกันไป ค่าใช้จ่ายนี่ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน

อย่างไรก็ดี เมื่อมองในระยะยาว เมื่อเราคุ้นเคยกับแนวคิดการซ่อม และบรรดาเทคนิคต่าง ๆ เป็นที่รู้โดยทั่วไปมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ข้อผิดพลาดส่วนนี้น้อยลง

ผู้ผลิตปรับตัวอย่างไร เพื่อตอบรับ “สิทธิในการซ่อม”

ที่มาภาพ : https://www.apple.com/th/newsroom/2021/11/apple-announces-self-service-repair/

สำหรับ “สิทธิในการซ่อม” นั้น ไม่ใช่แค่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือตัวผู้ผลิตเอง ที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับตัวกฎหมาย เพราะหลังจากนี้ นอกจากการรับหน้าที่ซ่อมบำรุงผ่านศูนย์บริการแล้ว ยังต้องคอยสนับสนุนการซ่อมด้วยตัวเองของผู้ใช้อีกด้วย

ที่มาภาพ : https://www.ifixit.com/Store

โดยในช่วงปีที่ผ่านมา แบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายเจ้า ก็เริ่มหันมาตอบรับนโยบายนี้กันบ้างแล้ว เช่นพี่ใหญ่วงการมือถืออย่าง Apple และ Samsung ที่ออกมาประกาศขานรับนโยบาย “Right to Repair” ในปี 2022 ด้วยการขายชิ้นส่วนและอะไหล่ผ่านร้านค้าของบุคคลที่ 3 เช่น iFixit โดยเฉพาะ Apple ที่ถึงขั้นขายอุปกรณ์สำหรับการถอดแยกชิ้นส่วนเอง

เช่นเดียวกับพี่ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์อย่าง Microsoft ก็นำอะไหล่ของเครื่อง Surface และจอย Xbox Controller มาวางขายผ่าน Microsoft Store ให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเองได้ ฝั่งของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่าง Logitech ก็เอาด้วย โดยร่วมมือกับ iFixit ขายชิ้นส่วนอะไหล่พร้อมแจกคู่มือการซ่อม

นอกจากตลาดมือถือและคอมพิวเตอร์แล้ว John Deere ผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรรายใหญ่ ก็ปรับตัวเข้ากับนโยบายนี้ด้วยการยินยอมให้ช่างซ่อมอิสระ ทำการซ่อมอุปกรณ์แบรนด์นี้ได้อีกด้วย

หวนคืนสู่ดีไซน์เดิม

ที่มาภาพ : https://timesofindia.indiatimes.com/gadgets-news/explained-why-modern-smartphones-dont-have-removable-batteries-and-how-does-it-affect-consumers/articleshow/89119202.cms

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2010 ตอนต้น ยุคเริ่มแรกของโทรศัพท์ Smartphone ตระกูล Android ซึ่งยังคงดีไซน์จากมือถือรุ่นเก่าอยู่หลายจุด โดยเฉพาะการถอดฝาหลังเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ ในยุคนั้นการพกแบตสำรองแทน Power Bank ถือว่าโคตรจะปกติ… จนกระทั่งมาถึงช่วงยุคหลัง ๆ ที่กระจก, โลหะ และกาว เป็นวัสดุมาตรฐานของ Smartphone ทำให้การถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วยตัวเองไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

จุดที่น่าสนใจก็คือ… ไม่ว่ามือถือ iPhone หรือ Android มักจะมีปัญหายอดฮิตเหมือนกันหมดเลยคือ “แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ” จากการใช้แล้วชาร์จวนซ้ำไปมาในทุก ๆ วัน โดยมาสาเหตุหลัก ๆ มาจากความจุแบตเตอรี่ที่ต่ำ และการกินพลังงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่เปิดเครื่องไว้

จนกระทั่งช่วงเดือนมิถุนายน ที่สหภาพยุโรป เริ่มประกาศกฎหมายให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ Smartphone, แท็ปเล็ต และยานพาหนะไฟฟ้า ต้องออกแบบให้สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่เองได้ โดยไม่ต้องพึ่งช่างหรือเข้าศูนย์… ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ยุโรป แต่จะบังคับใช้กันแบบทั่วโลกด้วย

คนที่ดูน่าจะปวดหัวเป็นพิเศษก็คือฝั่งของคนออกแบบมือถือและแท็ปเล็ต เนื่องจากการออกแบบของสินค้ากลุ่มนี้นั้น ต้องยืนบนพื้นฐาน “บางและเบา” และเรื่องของงานประกอบที่ต้องแน่นหนา เพราะอะไรที่ต้องขยับบ่อย ๆ มันมักจะชำรุดได้ง่าย และอาจกระทบต่อส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง… ยิ่งมือถือที่มีฟีเจอร์กันน้ำก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อถอดฝาหลังแล้วจะคงประสิทธิภาพการกันน้ำ ไม่ให้ไปโดนขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรี่ได้เหมือนเดิม… และอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตเลี่ยงที่จะทำให้มือถือสามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ เพราะมันจะทำให้เครื่องดูหนาเทอะทะ และดูไม่พรีเมี่ยม… ใช่ สินค้าหลาย ๆ อย่างนี่พยายามจะขายความพรีเมี่ยมเหลือเกิน

ที่มาภาพ : https://www.eurogamer.net/digitalfoundry-2016-lg-g5-review

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต เพราะกว่าจะบังคับใช้กันแบบเต็มตัว ก็ปี 2027 นู่น ทำให้ผู้ผลิตมีเวลาออกแบบอีกเยอะ ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ มันมีคนำล่วงหน้าไปก่อนแล้ว อย่างมือถือ LG G5 ที่ออกแบบมาให้สวยงามและเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้

หรือจะเป็นอดีตเจ้าตลาดอย่าง Nokia ที่ตอบรับและงอกนโยบายลดขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อต้นปี 2023 ก็ได้เปิดตัว Nokia G22 มือถือที่ออกแบบมาให้สามารถถอดประกอบเพื่อซ่อมแซมเองได้ แถมยังมีอะไหล่วางขายมาให้ตั้งแต่วันแรกกันเลย นอกจากนี้ก็ยังมีบริการมือถือให้เช่า ที่นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายได้มากแทนการซื้อขาด ยังสามารถเปลี่ยนมือถือเป็นรุ่นใหม่ได้อีกด้วย


“สิทธิในการซ่อม” แม้ในไทยจะไม่ใช่ของใหม่เท่าไหร่ และกลายเป็นหัวข้อที่ถูกลืมไปนานในสังคมผู้บริโภค หลังจากต้องวิ่งเต้นตามแผนการตลาดและเทคโนโลยีมาหลายสิบปี แต่การที่เราจะมีทางเลือกที่คุ้มค่า, สมเหตุสมผล และตรงจุดมากขึ้นมากขึ้น เชื่อได้ว่ามันจะตอบโจทย์ความคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

เพราะเชื่อได้เลยว่าตอนนี้คงมีคนเริ่มเบื่อกับการเก็บเงินเพื่อวิ่งตามสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ตกรุ่นหรือเสียง่ายเต็มทีแล้ว โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้


เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง

"Valve" ยืนยันแล้ว มีการวางขาย Steam Deck เครื่องซ่อมและตกแต่งใหม่ ราคาถูกกว่ามือหนึ่งราว 20%
EU เตรียมชงให้สินค้าเทคโนโลยีรวมเครื่องเกม ถอดแบตเองได้ หวังส่งเสริมส่งเสริมการรีไซเคิลใช้ใหม่ ภายในปี 2027

แหล่งที่มา

https://www.blognone.com/topics/right-to-repair
https://repair.eu/
https://www.repair.org/stand-up

More from us

นักเขียน, Gamer และตากล้อง ชอบดื่มเบียร์ IPA และ Whisky... เคยหายไปเขียนเรื่องเหล้ามาหลายปี ในที่สุดก็ได้กลับเข้าวงการสักที..!!!!