หนังจากวิดีโอเกม ทำให้เหมือนได้ แต่ทำไมไม่ยอมทำกัน

โดย
Surasak Tulathiphakul Surasak Tulathiphakul
เขียนเมื่อ 2 min read
หนังจากวิดีโอเกม ทำให้เหมือนได้ แต่ทำไมไม่ยอมทำกัน

ในสมัยก่อน ภาพที่เรามักเห็นบ่อยก็คือเหล่าคอเกมที่พากันเสียสติไปกันหมด เมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีวิดีโอเกมถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ จนกระทั่งการมาของ The Last of Us ซีรีส์จาก HBO ที่ดัดแปลงมาจากวิดีโอเกมดังของ Naughty Dog เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ชาวเกมได้ปลื้มปีติกันตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว เพราะนี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่สร้างออกมาได้ตรงกับต้นฉบับและถูกใจแฟน ๆ มากที่สุด

คำถามที่ตามมานั้น คือ… ในเมื่อมันสามารถทำให้ดีเท่าเกมต้นฉบับได้ แต่ “ทำไมถึงไม่ทำกัน?” แล้วพวกหนังและซีรีส์จากเกมที่ทำแล้วไม่ตรงต้นฉบับจนเจ๊งระนาวนั่นหมายความว่ายังไง? ตรงนี้ The E World จะมานั่งหาสาเหตุกับแบบทีละข้อกันว่า “ทำไมผู้สร้างหนังและซีรีส์ ถึงไม่ยอมทำตามต้นฉบับกัน ทั้งที่ถ้าจะทำก็ทำได้?”


ย้อนรอย 2 หนังจากเกม ที่ประเดิมความพังของวงการ

ก่อนจะมาเข้าประเด็นหลัก เราอาจจะต้องย้อนกลับไปในสมัยก่อน ราว ๆ ยุค 90’ มันเริ่มต้นจาก Hollywood ต้องการเนื้อหาที่แปลกใหม่ และของแปลกใหม่ที่เพิ่งได้เริ่มแจ้งเกิดในขณะนั้นก็คือวิดีโอเกมนั้นเอง เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เป็นเหมือนคำสาปของวงการเกม ที่ต่อให้เป็นเกมดังระดับทำมากี่ภาคก็ขายดีแน่นอน สุดท้ายก็มักจะมาตายเอาฉบับ Live Action เสมอ ชนิดที่ว่ายังไม่ทันมีรีวิวบนเว็บมะเขือเน่าก็รู้อนาคตทันทีว่าพังแน่นอน

อย่าง Super Mario Bros. ปี 1993 ที่เรียกว่าเข้ามาตีความโลกในเกมใหม่หมดจด และพยายามหาเหตุผลแบบ Hollywood มาอธิบายความแฟนตาซีในเกม จากที่มันดูน่ารักในเกม ก็กลายเป็นหนังสยองขวัญไปเสียชิบ บทก็อ่อนพอ ๆ กับอาหารเสริมเด็กทารก แต่ก็ยังมีข้อดีตรงที่นักแสดงทำผลงานออกมาได้ดี

หรือจะเป็น Street Fighter ของปี 1994 ที่ “Jean-Claude Van Damme” ซูเปอร์สตาร์ขาบู๊ของวงการในขณะนั้นมารับบทเป็น “Guile” แม้จะประสบความสำเร็จในด้านรายได้ แต่ในฝั่งคำวิจารณ์กับเจ๊งไม่เป็นท่า แต่ดีอย่างเดียวคือสปิริตของ “Raúl Juliá” ที่เรื่องนี้เป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของเขา… นี่ยังไม่รวมเรื่องวุ่น ๆ หลังฉากที่ประดังเข้ามาไม่หยุดระหว่างการถ่ายทำ รวมถึงจากตัว Capcom เจ้าของเกมต้นฉบับเองด้วย

นี่เลยเป็นแผลแรก ๆ ที่ Hollywood ได้กรีดเข้ามาตรงกลางใจของเหล่าคอเกม และก็ตามมาด้วยอีกหลายแผลจากหนังอีกหลายเรื่อง ที่ทำให้สังคมคอเกมพากันแอนตี้หนังจากเกมกันไปเลย เพราะในเวลานั้น ชื่อของ Hollywood นั้น การันตีความห่วยของหนังได้ยิ่งกว่าใบรับรองจากสถาบันไหน ๆ เสียอีก

ส่วนหนังจากเกมของ Uwe Boll ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 นั้นไม่ต้องแยกเรื่องให้เสียเวลา เพราะ “ต้องสาป” มันทุกเรื่อง จนได้ชื่อว่าเป็นนักสร้างหนังห่วยมืออาชีพของวงการ… ซึ่งมันก็มืออาชีพจริง ๆ เพราะเขาได้ผลประโยชน์จากนโยบายลดภาษีของผู้สร้างหนังในหลาย ๆ ประเทศของยุโรป เพื่อรับมือกับการบุกทำตลาดของหนัง Hollywood ที่เขาและคนใกล้ตัวจะได้ลดหย่อนภาษีและรับเงินคืนได้ และเมื่อบวกกับการกดงบการสร้างให้ต่ำลงเพื่อลดต้นทุน ก็เลยกลายเป็นกำไร จนกระทั่งเยอรมนีแก้กฎหมายตรงนี้ใหม่

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือแผลใหม่จากหนังเรื่อง Resident Evil: Welcome to Raccoon City ของปี 2021 และซีรีส์ Resident Evil ปี 2022 ของ Netflix ที่เรียกเสียงโหยหวนของแฟนเกมได้อย่างมหาศาล จนถึงขั้นบอกกันว่า “ไปดูเวอร์ชันหนังขายเมียผู้กำกับเถอะ อันนั้นอย่างน้อยก็สนุกกว่า”

แต่ใช่ว่าหนังจากเกมมันจะแย่ไปทุกเรื่อง เพราะเอาจริง ๆ Hollywood ถ้าจะทำให้มันดีก็ทำได้ อย่างเรื่อง “Sonic the Hedgehog” ของปี 2020 ถือว่าเป็นหนังจากเกมเรื่องแรกที่ทำลายคำสาปที่มีมานานลงได้ ด้วยความสำเร็จในด้านรายได้และคำวิจารณ์ แต่มันอาจจะไม่มาถึงจุดนี้ได้ ถ้าไม่โดนรุมด่าจากดีไซน์ตัวละครของ Sonic ใน Trailer แรกที่ปล่อยออกมา


แล้วทำไมไม่ทำมันซะตั้งแต่แรก

https://www.myepicnet.com/videojuegos/la-formas-en-que-la-serie-the-last-of-us-de-hbo-hace-guinos-al-videojuego/


หลังจากความสำเร็จของ “Sonic the Hedgehog” และซีรีส์ “The Last of Us” มันทำให้เกิดคำถามขึ้นทั้งในวงการเกมและภาพยนตร์ว่า “ทำไมไม่ทำแบบนี้ซะตั้งแต่แรก?” เพราะที่ผ่านมา หนังที่สร้างจากวิดีโอเกมแล้วปังคือมีนับหัวได้ อย่าง Pokémon Detective Pikachu และ The Angry Birds Movie 2 รวมถึงอันที่คาบเส้นคาบดอกอย่าง Motal Kombat ฉบับปี 2021

เราต้องแยก Timeline ช่วงที่ตกต่ำสุด ๆ กับช่วงที่เริ่มปังขึ้นมากันก่อน อย่างที่เคยเล่าไปในข้างต้น Hollywood ยุค 90’ เป็นช่วงที่เริ่มมีจับวิดีโอเกมมาเป็นคอนเทนต์ ในฐานะสื่อบันเทิงใหม่ที่เริ่มเป็นกระแส ซึ่งในช่วงเวลานั้นคนในวงการภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงวิดีโอเกมเท่าสมัยนี้ ทำให้มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจโลกและเรื่องราวในวิดีโอเกมมากพอ หรือสามารถปรับจูนมุมมองและการตีความในหนังให้ตรงกับเกมต้นฉบับได้

https://www.ghoulsmagazine.com/articles/stay-alive-2006-film-review


ในทางกลับกัน คนดูหนังที่เข้าถึงหรือเคยเล่นวิดีโอเกมนั้นก็ยังมีไม่มากเช่นกัน อย่างในกรณีของหนังเรื่อง Stay Alive ปี 2006 ที่แม้ผู้สร้างจะบรรจงใส่รายละเอียดความสมจริงในสังคมคนเล่นเกมไว้แน่นขนาดไหน แต่ก็มันก็ไม่สามารถเข้าถึงคนในวงกว้างได้ เพราะวัฒนธรรมชาวเกมยังไม่แพร่หลายเท่าทุกวันนี้

บางครั้ง ถึงตัวเจ้าของเกมจะลงมาแทรกแซงเองก็สามารถที่จะทำพังเองได้อยู่ดี เพราะไม่เช้าใจกรรมวิธีการตีบทหนัง อย่างกรณีของหนัง Street Fighter ปี 1994 ที่ Capcom พยายามจะให้ผู้กำกับ “Steven De Souza” ยัดตัวละครถึง 19 ตัวไว้ในหนังความยาว 100 นาที จากเดิมที่วางแผนไว้จะให้มีแค่ 7 ตัวเท่านั้น จนกลายเป็นหนังที่ตัวละครพากันแย่ง Air Time กันมั่วไปหมด

ถึงในยุคนี้จะเป็นอะไรที่โชคดีขึ้นมาบ้าง เพราะวิดีโอเกมกลายมาเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลัก เด็กเล่นเกมในยุคนั้นก็เติบโตมาทำงานในวงการภาพยนตร์เพิ่มขึ้น แต่มันก็ไม่ได้รับประกันว่าบริษัทผู้สร้างหรือคนที่อยู่เบื้องหลังหนังและซีรีส์เหล่านั้น มันจะเอาคนที่เข้าใจแนวคิดของเกมจริง ๆ มาดูแลโปรเจกต์ เพราะผู้ที่จะเลือกคนมาคุมการสร้าง ยังไงก็ไม่ใช่ผู้ชมอยู่ดี หรือแม้แต่ผู้ชมเองก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับวิดีโอเกมเหมือนกันหมด

https://www.gameinformer.com/2021/02/02/mass-effect-legendary-edition-gameplay-trailer-revealed-coming-this-may


แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นโจทย์ที่โหดหินอยู่จนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือเส้นเรื่องของภาพยนตร์และเกมที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยเส้นเรื่องของเกมนั้นจะสอดแทรกเหตุการณ์และเนื้อเรื่องยิบย่อยไว้มากมาย และอาจมีเนื้อเรื่องทางแยกตามแต่เส้นทางที่ผู้เล่นเลือกด้วย ในขณะที่ภาพยนตร์นั้นจะเป็นเนื้อเรื่องแบบเส้นตรง และมีเพียงบทสรุปเดียว ไม่มีการแวะข้างทางหรือทางเลือกสมมุติ ถือเป็นความท้าทายและน่าปวดหัวในเวลาเดียวกัน ที่ต้องย่อเรื่องราวความยาว 5-10 ชั่วโมง ไว้ในหนังความยาวเพียง 100 กว่านาที


ควรเดินตามเกม หรือตีความใหม่

https://www.cnet.com/culture/resident-evil-the-most-successful-video-game-movie-series-milla-jovovich-paul-ws-anderson/


นอกจากคำถามที่ว่า “ทำไมไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่แรก” แล้ว ยังมีอีกคำถามที่บางคนยังถกเถียงกันอยู่ว่า “หนังควรเดินตามเกม หรือควรจะตีความใหม่ตามผู้สร้างไปเลย?” เพราะในมุมมองของแต่ละฝ่ายนั้น มีเหตุผลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเลยทีเดียวสำหรับเรื่องนี้

อย่างในมุมของคนทำหนังนั้น การเปลี่ยนแปลงและดัดแปลง ถือเป็น “เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะตามธรรมชาติของคนทำหนังแล้ว พวกเขามักชอบที่จะทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่พิเศษขึ้นสำหรับตัวหนัง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงหน้างาน เพื่อให้บทที่จะใช้มีความเหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ และถ้าว่ากันตามหลักการเขียนบทภาพยนตร์ ตัวบทไม่จำเป็นต้องเล่าทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงต้องมีการตัดรายละเอียดปลีกย่อยออกไปเพื่อให้มีที่ว่างพอในการใส่จุดน่าสนใจอื่น ๆ โดยให้มันยังพอดีกับพื้นที่ที่มีจำกัด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะบีบอัดทุกอย่างจาก 5-10 ชั่วโมง ให้สามารถเล่าได้หมดภายในเวลา 100 กว่านาที

https://www.halowaypoint.com/news/halo-series-season-2-confirmed


แต่ในสายตาของแฟนบอยกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น พวกเขามองว่าถ้าจะทำหนังที่สร้างมาจากเกม เท่ากับว่าหนังเรื่องนี้ทำมาขายให้กับแฟนเกมอยู่แล้ว และมันก็ควรที่จะยึดตามต้นฉบับให้มากที่สุด ทั้งเส้นเรื่อง, ฉากหลัง ไปจนถึงนักแสดงที่มารับบทเป็นตัวละครต่าง ๆ เพราะเมื่อพวกเขาตีตั๋วเข้ามา ก็คาดหวังที่จะเห็นภาพแบบเดียวกับในเกม ไม่ใช่จากเส้นเรื่องคู่ขนาน

https://ew.com/movies/2019/05/10/pokemon-detective-pikachu-ending-spoilers/


อย่างไรก็ตาม ต่างฝ่ายเองก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้นเหมือนกันทั้งคู่ แต่มันก็ใช่ว่าจะไม่สามารถหาจุดลงตัวได้เลยสำหรับเรื่องนี้ เหมือนอย่างหนังเรื่อง Pokémon Detective Pikachu ที่ตัวหนังจะไม่ได้เดินตามเกมแบบเป๊ะ ๆ 100% และมีการดัดแปลงไปหลายจุด แต่มันกลับสามารถครองใจแฟน ๆ ได้เป็นจำนวนมาก เพราะผู้สร้างสามารถหาจุดลงตัวระหว่างการคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม เพื่อเซอร์วิสแฟน ๆ และเติมสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไป จนกลายมาเป็นหนังที่สนุกและทำให้แฟน ๆ Pokemon พึงพอใจได้ เพราะเห็นแบบนี้แต่แฟนเซอร์วิสจัดเต็มมาก

https://www.gameshub.com/news/features/the-last-of-us-hbo-tv-series-cast-and-character-guide-38096/


ส่วนของ The Last of Us นั้น ต้องบอกว่าเป็นการเลือกเกมและเลือกคนได้ถูกงาน เพราะเนื้อเรื่องในเกมนั้นมีองค์ประกอบของความเป็นภาพยนตร์อยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว เลยดูเหมาะเหม็งกับการนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางทีวี เพราะพื้นที่มากพอในการวางเรื่องราวต่าง ๆ และเมื่อตอนแรกออกฉาย แฟน ๆ ต่างพากันชื่นชมว่าแทบไม่มีอะไรถูกเปลี่ยนไปจากตัวเกมเลย ดูเหมือนกำลังดูฉากคัทซีนฉบับคนแสดงจริงมากกว่า แถมตัวแสดงที่เลือกมานั้น ก็หามาได้ตรงกับคาแรคเตอร์ในเกมมาก

ดังนั้นแล้ว ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเกมสักเรื่อง ควรจะต้องตีความใหม่ หรือยึดตามต้นฉบับแบบครบ ๆ หรือไม่นั้น อาจจะต้องดูกันหลาย ๆ ปัจจัย รวมไปถึงฝีมือของผู้สร้าง ว่าจะสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยที่ผู้ชมทั่วไปยังสามารถเข้าถึงได้ และทำให้แฟนเกมพึงพอใจ เพราะสุดท้ายแล้ว การที่หนังจะรุ่งหรือร่วงนั้น ก็อยู่ที่ผู้สร้างจะสามารถชงเรื่องราวเหล่านี้ได้ตรงกับความคาดหวังของคนดูขนาดไหน



เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง :

Street Fighter (1994) เบื้องหลังปัญหาระหว่างถ่ายทำ ที่พังทั้งนักแสดงและทีมงาน
กรณีศึกษา : หนัง Super Mario Bros. ปี 1993 ที่พังพินาศ เพราะเปลี่ยนจุดเด่นของตัวเอง
มองตอนจบด้วยหลักปรัชญา : การกระทำบนทางเลือกคู่ขนานของตัวละครใน The Last of Us
รู้จักเชื้อราต้นแบบ ของ“Cordyceps Brain Infection” เชื้อราสิงสมอง ก่อนดู The Last of Us



แหล่งที่มา

Why do video game movies never follow the storyline of the video games they're based on? - Quora

Video Games Deserve As Much Respect As Movies - SlashGear

Do Video Games Deserve the Same Respect as Films? (gameskinny.com)

10 Video Game Adaptations That Didn't Follow The Source Material (screenrant.com)

Why The Original Resident Evil Movie Didn't Adapt The Games (screenrant.com)

Can Video Games Ever Be As Realistic As Movies? (kotaku.com.au)

เคล็ดลับการเขียนบทหนังให้น่าสนใจ! (ccclfilmfestival.com)

More from us

นักเขียน, Gamer และตากล้อง ชอบดื่มเบียร์ IPA และ Whisky... เคยหายไปเขียนเรื่องเหล้ามาหลายปี ในที่สุดก็ได้กลับเข้าวงการสักที..!!!!
รักหมารักแมวรักการเล่นเกม!