
ถือเป็นข่าวที่สร้างเซอร์ไพร์สให้แก่แฟนภาพยนตร์ทั่วโลก หลัง ฮิวจ์ แจ็คแมน กลับมารับบทบาท วูล์ฟเวอร์รีน ซูเปอร์ฮีโร่กลายพันธุ์อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Deadpool 3 ที่จะเข้าฉายในปี 2024
การกลับมารับบทบาทครั้งนี้ส่งผลให้ตัวละครวูล์ฟเวอร์รีน หรือ โลแกน กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่สร้างสถิติไม่เปลี่ยนนักแสดงยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ นำมาสู่ความน่ายินดีต่อแฟนคลับหนัง X-Men เป็นอย่างมาก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในโลกซูเปอร์ฮีโร่
The E World ชวนคุณมาทบทวนการเดินทางกว่า 20 ปี ของวูล์ฟเวอร์รีนบนแผ่นฟิล์ม เพื่อค้นหาเหตุผลว่าทำไมตัวละครนี้ถึงอยู่เป็นอมตะ และยังคงสร้างเสียงตอบรับอันยอดเยี่ยม แม้ไม่เคยเปลี่ยนนักแสดงแม้แต่ครั้งเดียว
กำเนิดไอคอนแห่งหนัง X-Men
ย้อนกลับไปยังปี 2000 ที่ภาพยนตร์เรื่อง X-Men เข้าฉายในโรงเป็นครั้งแรก หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ และถือเป็นเป็นจุดเริ่มต้นในการกอบกู้ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่กลับคืนสู่สายตาและความสนใจของผู้ชมทั่วโลก
หลังจากความล้มเหลวที่เกินกว่าจะให้อภัยของ Batman & Robin (1997) ซึ่งปรับโทนภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่สวมหน้ากากให้ไปในแนวทางตลกโปกฮา แถมยังมีความเป็นการ์ตูนมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่หมดความเชื่อมั่นในหนังฮีโร่หน้ากาก และต่างเห็นตรงกันว่า ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่คงก้าวไปไม่ไกลเกินกว่าการเป็นความบันเทิงสำหรับผู้ชมรุ่นเยาว์
X-Men จึงเดินบนเส้นทางที่แตกต่างไปจากนั้น ด้วยการลบภาพซูเปอร์ฮีโร่หน้ากากที่เหนือจริงออกไป แล้วทดแทนด้วยเหล่ามิวแทนต์ที่มีชีวิตแสนรันทด, ความเจ็บปวดที่ซ่อนลึกในจิตใจ และความยึดมั่นต่ออุดมการณ์การเมืองที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป แถมยังสอดแทรกประเด็นทางสีผิวของสหรัฐอเมริกาเข้ามาได้อย่างน่าสนใจ
หนึ่งในตัวละครที่ถูกปรับเปลี่ยนมากที่สุดจากคอมมิค เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สมจริงของไบรอัน ซิงเกอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง X-Men คือ วูลฟ์เวอร์รีน หรือ โลแกน หนึ่งในตัวละครหลักของกลุ่ม X-Men ที่มีคาแรกเตอร์และกรงเล็บสุดเท่เป็นจุดขาย แต่ติดปัญหาคือเจ้าตัวดันใส่หน้ากากที่มีดวงตาแหลมเฟี้ยว แถมเครื่องแต่งกายยังสีเหลือสดใส ขัดแย้งกับโทนอันมืดหม่นของเรื่อง X-Men เป็นอย่างยิ่ง
ภาพยนตร์เรื่อง X-Men จึงหยิบยืมรูปลักษณ์ของวูลฟ์เวอร์รีนมาจากคอมมิคเรื่อง Wolverine ลิมิตซีรีส์ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1982 ซึ่งมีภาพปกของหนังสือฉบับแรก
เป็นภาพวูล์ฟเวอรีนที่มีหน้าตาค่อนข้างกวนโอ๊ยกำลังชูกรงเล็บ และกวักมือท้าทายคู่ต่อสู้ โดยภาพปกอันเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวมาจากปลายปากกาของแฟรงค์ มิลเลอร์ นักเขียนชื่อดังที่เน้นความสมจริงมากกว่าใคร ผ่านผลงานอย่าง The Dark Knight Returns หรือ Batman: Year One
วูล์ฟเวอร์รีนที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่อง X-Men จึงมีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับหน้าปก Wolverine (1982) เล่มแรกแบบแทบทุกกระเบียด งานที่เหลือของทีมสร้างภาพยนตร์จึงไม่มากไปกว่าการหานักแสดงชื่อดังสักคนเข้ามารับบทบาทโลแกน
แต่ไปมากลายเป็นว่านักแสดงชื่อดังต่างบอกผ่านบทนี้ไปทั้งหมด เพราะอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า หนังซูเปอร์ฮีโร่ชื่อเสียงย่ำแย่มากในเวลานั้น แม้แต่นักแสดงชื่อดังอย่าง วาล คิลเมอร์ และจอร์จ คลูนี่ย์ ยังเละเทะในบทแบทแมนมาแล้ว
บทวูล์ฟเวอร์รีนจึงตกมาอยู่ในมือของนักแสดงโนเนมชาวออสเตรเลียอย่าง ฮิวจ์ แจ็คแมน ที่ไม่มีผลงานในฮอลลีวูดเลยก่อนหน้านี้ แถมยังเป็นตัวเลือกลำดับเกือบสุดท้ายของผู้สร้างอีก แต่เมื่อทางทีมงานเรียกตัวแจ็คแมนมาแคสต์บทจริง ๆ พวกเขาแทบจะเห็นตรงกันในทันทีว่า ผู้ชายคนนี้คือวูล์ฟเวอรีนที่พวกเขากำลังตามหากันมาอย่างยาวนาน
การเลือกนักแสดงชื่อไม่ดังแต่มีความสามารถแบบแจ๊คแมน กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ตัวละครวูล์ฟเวอรีนสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพราะเมื่อตัวละครดังกล่าวปรากฎตัวขึ้นมาโดยผู้ชมไม่คุ้นหน้านักแสดงมาก่อน จึงส่งผลให้ผู้ชมแทบทั้งหมดเชื่ออย่างสนิทใจว่า ฮิวจ์ แจ็คแมน คือวูล์ฟเวอร์รีนอย่างแท้จริง
นี่คือความรู้สึกที่ไม่ต่างจากการที่เราได้เห็น แดเนียล เรดคลิฟฟ์ ก้าวเข้ามารับบทแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ เอไลจาห์ วู้ด ในบทโฟรโด้ แบ็กกินส์ นั่นคือผู้ชมได้จดจำตัวละครที่นักแสดงเล่นได้ดีกว่าตัวนักแสดงจริง ๆ เสียด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นเหตุผลแรกที่ทำให้วูล์ฟเวอร์รีนและฮิวจ์ แจ็คแมน ตัดกันไม่ขาด เพราะผู้ชมไม่สามารถลบภาพของแจ็คแมนที่เปิดตัวอย่างร้อนแรงบนจอภาพยนตร์ในฐานะโลแกนออกไปได้นั่นเอง
สัญลักษณ์ทางเพศ และเส้นทางที่หลากหลาย
ตลอดไตรภาคดั้งเดิมของภาพยนตร์ชุด X-Men ตัวละครวูล์ฟเวอร์รีนได้รับบทเด่นในฐานะตัวละครหลักของเรื่อง และยังได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ชมทั่วไป จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฮิวจ์ แจ็คแมน และวูล์ฟเวอร์รีนได้โอกาสไปต่อในภาคแยก X-Men Origins: Wolverine ที่เข้าฉายเมื่อปี 2009
การประกาศสร้างภาคแยกของตัวละครวูล์ฟเวอร์รีนแทบจะเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ ถึงสถานะผู้นำแฟรนไชส์ X-Men ของตัวละครวูลฟ์เวอร์รีน และเจ้าของบทบาทอย่างแจ๊คแมนที่ดูเหมือนว่าจะผูกติดกับบทโลแกนไปสักระยะ ทั้งที่คำวิจารณ์ในช่วงแรกของการเลือกเขาเข้ามารับบทวูล์ฟเวอร์รีนกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ แทบไม่มีใครชอบที่ฮิวจ์ แจ็คแมน เข้ามารับบทตัวละครนี้เลย
เหตุผลของความไม่พอใจนี้ไม่ได้เกิดจากทักษะการแสดงของแจ็คแมน แต่เป็นภาพลักษณ์ของนักแสดงที่ “ดูดี” เกินกว่าจะรับบทซูเปอร์ฮีโร่สายเถื่อน ไม่ว่าจะเป็น ส่วนสูง 190 เซนติเมตรของแจ็คแมนที่ขัดกับส่วนสูง 160 เซนติเมตรของวูล์ฟเวอร์รีนในคอมมิค หรือใบหน้าอันหล่อเหลาของนักแสดงชาวออสเตรเลียที่ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ชาวแคนาดาอันป่าเถื่อนโดยสิ้นเชิง
คำวิจารณ์ในช่วงแรกต่อวูล์ฟเวอร์รีนที่รับบทโดยแจ็คแมนจึงเป็นไปในทางลบ และไม่มีใครคิดว่าตัวละครนี้จะไปรอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสียงตอบรับของผู้ชมได้ยืนยันว่าการซื่อตรงต่องานต้นฉบับไม่ได้เป็นเรื่องถูกต้องเสมอไป
เพราะภาพลักษณ์ของวูล์ฟเวอร์รีนที่ดูเท่เกินกว่าสมาชิก X-Men อย่างชัดเจน กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้วูล์ฟเวอร์รีนเป็นตัวละครที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเหล่ามิวแทนต์ในโลกภาพยนตร์
เมื่อการเดินทางของตัวละครดังกล่าวดำเนินมาถึง X-Men Origins: Wolverine ทางผู้สร้างจึงเลือกเดินไปในเส้นทางโชว์ความเท่ของวูล์ฟเวอร์รีนแบบจัดเต็ม ด้วยการพยายามให้ตัวละครโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มโดยไม่สวมเสื้อให้มากที่สุด
หรืออย่างมากที่สุดคือสวมเสื้อกล้ามตัวเดียว ผู้ชมจึงได้เห็นช็อตอันเป็นเอกลักษณ์จากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เช่น การตื่นขึ้นมาจากบ่ออาดามันเทียมด้วยร่างกายเปลือยเปล่า พร้อมกับปลดปล่อยกรงเล็บโลหะออกมาเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์
ฮิวจ์ แจ็คแมน ออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าวูล์ฟเวอร์รีนถือเป็นตัวละครที่ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความดีในฐานะซูเปอร์ฮีโร่ แต่ยังเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์แบบของมนุษย์เพศชายในฐานะสัญลักษณ์ทางเพศ หรือ Sex Symbol โดยแจ๊คแมนยังกล่าวอีกว่าเขาทำงานหนักมากเพื่อให้ร่างกายออกมาดูดีที่สุด เพื่อให้สมกับบทบาทมิวแทนต์ที่ไม่รู้จักความเจ็บปวดและแทบเป็นอมตะฆ่าไม่ตาย
แน่นอนว่าการโฟกัสไปยังรูปลักษณ์ของตัวละครอย่างหนัก ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าทีมผู้สร้างไม่มีหมัดเด็ดมากพอในส่วนของเนื้อเรื่อง เสียงตอบรับของ X-Men Origins: Wolverine จึงพังไม่เป็นท่า
ส่งผลให้ทางสตูดิโอตัดสินใจเปลี่ยนแทวทางของซีรีส์ X-Men ไปโฟกัสเรื่องราวของโปรเฟสเซอร์ เอ็กซ์ และแม็กนีโต้ ในภาพยนตร์เรื่อง X-Men: First Class ซึ่งตัวหนังได้รบคำวิจารณ์อย่างยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ เนื่องจากตัวหนังเลือกกลับมาสะท้อนความแตกต่างในสังคมโลกปัจจุบันอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยทำใน X-Men ภาคแรก
ถึงแฟรนไชส์ X-Men จะแตกเป็นสองทาง แต่ความน่าหลงไหลของตัวละครวูล์ฟเวอร์รีนในฐานะสัญลักษณ์ทางเพศ ส่งผลให้ ฮิวจ์ แจ็คแมน ได้ไปต่อทั้งในหนังภาคแยกของตัวเองใน The Wolverine (2013) ก่อนกระโดดข้ามมายังไตรภาคตระกูลใหม่ใน X-Men: Days of Future Past (2014)
นี่ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพลของวูล์ฟเวอร์รีนที่รับบทโดยแจ็คแมนได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าหนังจะมีสาระมากแค่ไหน หรือจะโฟกัสอะไรเป็นหลัก ทุกอย่างไม่มีผลต่อความนิยมต่อตัวละครโลแกนบนจอภาพยนตร์ และจะต้องมีตัวเขาปรากฎตัวในหนัง X-Men ทุกภาค (ณ เวลานั้น) จนเราอาจพูดได้ว่าวูล์ฟเวอร์รีนเป็นตัวละครที่มีมูลค่ามากกว่า X-Men ทั้งทีมด้วยซ้ำ
การเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด
การเดินทางของฮิวจ์ แจ็คแมน ในฐานะวูล์ฟเวอร์รีนได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนในภาพยนตร์เรื่อง Logan (2017) ที่ทางตัวนักแสดงมีความต้องการพาตัวละครโลแกนเดินไปในทิศทางใหม่ โดยเล่าเรื่องการไถ่บาปของวูล์ฟเวอร์รีนในช่วงปลายชีวิต คล้ายกับภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Unforgiven (1992) และ The Wrestler (2008)
วูล์ฟเวอร์รีนในภาพยนตร์เรื่อง Logan จึงไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นสัญลักษณ์ทางเพศเหมือนที่ผู้ชมคุ้นชิน แต่เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และมีบาดแผลหลบซ่อนอยู่ในจิตใจมากมาย ซึ่งใจความทั้งหมดของหนังได้สะท้อนผ่านภาพลักษณ์ของโลแกนที่หมดคราบซูเปอร์ฮีโร่กู้โลก แต่กลายเป็นเพียงคนขับรถลีมูซีนหาเช้ากินค่ำที่ปราศจากเป้าหมายในชีวิต
ความกล้าที่จะนำตัวละครนี้ก้าวเดินไปในทิศทางใหม่ สร้างความประทับใจอย่างมากแก่ผู้ชมทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนคลับที่ติดตามการเดินทางของตัวละครนี้ตั้งแต่หนังภาพแรก เนื่องจากบทสรุปของหนังเรื่อง Logan ได้สร้างความหมายที่ลึกซึ่งแก่ตัวละครวูล์ฟเวอร์รีน นำมาสู่ความพอใจของเหล่าแฟนคลับภาพยนตร์ X-Men ทั้งปวง
แต่ถึงเนื้อหาของ Logan จะสร้างความประทับใจแก่ผู้คนมากเพียงใด บทสรุปการเดินทางของวูล์ฟเวอร์รีนย่อมหมายถึงจุดจบของตัวละครนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อบวกกับความยอดเยี่ยมของหนังที่คงไม่สามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นที่พาโลแกนไปไกลได้มากกว่านี้อีกแล้ว ส่งผลให้แฟนคลับทั่วโลกต่างคิดตรงกันว่า ฮิวจ์ แจ็คแมน ในบทบาทวูล์ฟเวอร์รีนคงจบลงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้
สิ่งที่หลายคนอาจลืมคิดไปคือ วูล์ฟเวอร์รีนไม่ได้มีแค่เพียงด้านจริงจังที่น่าสำรวจค้นหา แต่ความบ้า, ความกวนประสาท และการแหกกฎระเบียบที่สังคมตั้งไว้ ถือเป็นจิตวิญญาณที่แฝงเอาไว้ในตัวละครนี้เช่นเดียวกัน นั่นจึงนำมาสู่คำถามว่า หาก Logan สามารถพาวูล์ฟเวอร์รีนเดินบนแนวทางที่จริงจังได้ แล้วทำไมภาพยนตร์สักเรื่องถึงจะพาวูล์ฟเวอร์รีนเดินไปในแนวทาง “เกรียน” สุดโต่งบ้างไม่ได้
การกลับมารับบทบาทวูล์ฟเวอร์รีนอีกครั้งของแจ็คแมนใน Deadpool 3 จึงถือเป็นเรื่องยืนยันถึงมิติที่หลากหลายของวูล์ฟเวอร์รีน และความอมตะของตัวละครนี้บนโลกภาพยนตร์ เพราะไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปเท่าใด แฟนหนังแฟรนไชส์ X-Men ต่างพร้อมเปิดใจรับวูล์ฟเวอร์รีนให้กลับมาโลดแล่นบนจอหนังอีกครั้ง ตราบใดที่ผู้สร้างมีไอเดียที่สดใหม่และน่าสนใจมากพอ
ทางกลับกัน ฮิวจ์ แจ็คแมน ในบทบาทวูล์ฟเวอร์รีน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนตัวละครนี้ให้เดินหน้ายาวนานกว่า 20 ปี เพราะถ้าเราย้อนกลับไปมองเส้นทางของสองฝ่าย ทั้งคู่ต่างเกิดมาเพื่อกันและกันอย่างแท้จริง เพราะอาชีพนักแสดงของแจ็คแมนได้แจ้งเกิดจากบทวูล์ฟเวอร์รีน ส่วนเหตุผลที่ตัวละครดังกล่าวยังได้โอกาสไปต่อแบบทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะไอเดียของนักแสดงที่อยากทำหนังแบบ Logan ขึ้นมา
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บทบาทวูล์ฟเวอร์รีนไม่เคยเปลี่ยนตัวนักแสดงตลอดทั้งช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา และตราบใดที่ผู้สร้างยังคงมีไอเดียในการเล่าเรื่องตัวละครนี้ต่อไป เชื่อเหลือเกินว่า ฮิวจ์ แจ็คแมน คงเป็นตัวเลือกเดียวสำหรับคอหนังทั่วโลก ที่จะเดินทางเข้าโรงภาพยนตร์แล้วพูดว่า นี่แหละคือวูล์ฟเวอร์รีนที่พวกเขาหลงรักมาตลอดทั้งชีวิต
อ้างอิง:
‘X-Men’ At 20: How Hugh Jackman’s Success As Wolverine Helped Kill The Hollywood Movie Star