Holy Spider : ภาพยนตร์ของนักฆ่าโสเภณีที่สะท้อนมุมมองของชาวอิหร่าน

โดย
Nattanan Chankwang Nattanan Chankwang
เขียนเมื่อ 1 min read
Holy Spider : ภาพยนตร์ของนักฆ่าโสเภณีที่สะท้อนมุมมองของชาวอิหร่าน

 

“ผมรู้สึกเห็นอกเห็นใจเขานะ แม้มันจะขัดกับความรู้สึกในใจของผม และเป็นไปในแนวทางที่ประหลาดมากก็ตาม”

นี่คือประโยคที่ อาลี อับบาซี ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่านกล่าวถึง ซาอีด ฮานาอี ฆาตกรต่อเนื่องแห่งเมืองมาแชด ผู้สังหารโสเภณี 16 รายในช่วงปี 2000 ถึง 2001 จนได้รับฉายาจากสื่ออิหร่านว่า “ฆาตกรแมงมุม” เนื่องจากวิธีการล่อลวงเหยื่อให้ไปติดกับของเขา มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการชักใยเพื่อล่อจับเหยื่อของเหล่าแมงมุมไม่มีผิดเพี้ยน

20 ปีผ่านไปหลังจากที่อับบาซีได้รู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของฮานาอี ผู้กำกับรายนี้จับเรื่องราวฆาตกรแมงมุมนำมาปัดฝุ่นและดัดแปลงเพื่อเล่าใหม่ในมุมมองของตน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าฆาตกรที่พรากชีวิตเพื่อนร่วมโลกไปมากมาย กลับถูกยกย่องโดยสังคมอิหร่าน จนถูกขนานนามว่า “แมงมุมผู้ศักดิ์สิทธิ์” ได้อย่างไร

คอลัมน์ นอกกระแส พาคุณไปรู้จักกับแนวคิดเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง Holy Spider (2022) ที่ก้าวไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และสร้างแรงสั่นสะเทือนจนรัฐบาลอิหร่านต้องออกมาตอบโต้ต่อมุมมองที่ผู้กำกับนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

คดีสะท้อนปัญหาสังคมอิหร่าน

ย้อนเวลากลับไปยังปี 2001 อาลี อับบาซี ยังคงเป็นนักศึกษาในกรุงเตหะรานที่มีเวลาว่างมากพอจะนั่งติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยหนึ่งในข่าวที่เขาให้ความสนใจมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการออกอาละวาดของฆาตกรแมงมุม นักฆ่าต่อเนื่องที่ออกสังหารโสเภณีในเมืองมาแชดไปแล้วมากกว่าสิบราย

ตามมุมมองของอับบาชีแล้ว การจับฆาตกรแมงมุมดูจะไม่ใช่งานที่ยากเกินไปสำหรับตำรวจอิหร่าน เนื่องจากวิธีการลงมือฆาตกรรมที่มีรูปแบบค่อนข้างชัดเจน คือล่อลวงโสเภณีติดยาเข้ามาที่บ้าน ก่อนสังหารเหยื่อด้วยการรัดคอและทิ้งลงถังขยะ หากตำรวจให้ความสนใจที่จะตามล่าผู้ลงมือตามรูปแบบที่ปรากฎ ฆาตกรแมงมุมย่อมถูกจับอย่างรวดเร็ว

แต่จนแล้วจนรอด ฆาตกรแมงมุมกลับลอยนวลได้ทุกครั้งที่มีการฆาตกรรมโสเภณี การเสนอข่าวตามหน้าสื่อกลับเงียบเชียบไร้ความเคลื่อนไหว แถมการเร่งเร้าจากสังคมชาวอิหร่านกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะแทนที่ทุกคนจะหวาดกลัวและกดดันให้ตำรวจรีบลงมือจับฆาตกรโดยไว

ประชาชนชาวอิหร่านกลับสนับสนุนพร้อมเห็นด้วยกับการลงมือของฆาตกรรายนี้ เพราะมองเห็นว่านี่คือการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากเมืองและท้องถนน อันเป็นความเชื่อที่สะท้อนจากหลักศาสนาอิสลามที่มองว่าการประกอบอาชีพโสเภณีเป็นบาป และบุคคลผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวจะต้องตกนรก

“ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐเนบราสก้าหรือที่ไหนก็แล้วแต่ เรื่องราวแบบนี้คงเป็นข่าวระดับชาติจนกว่าพวกเขาจะจับฆาตกรได้ ผมนั่งเกาหัวอยู่นานเลยนะ แต่มันก็มีอีกหลายเรื่องในประเทศอิหร่านที่คุณต้องนั่งเกาหัวให้กับมันเหมือนเรื่องนี้”

อับบาชีเก็บความข้องใจเกี่ยวกับฆาตกรแมงมุมเอาไว้ จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่อง And Along Came a Spider (2002) ที่มีเนื้อหาเป็นบทสัมภาษณ์ของฆาตกรแมงมุม หรือ ซาอีด ฮานาอี หลังถูกจับกุมโดยทางการอิหร่าน โดยตลอดเนื้อหาของสารคดี ฮานาอีได้ให้เหตุผลต่อการฆาตกรรมของเขา อันนำมาสู่ผลลัพธ์ที่น่าตกใจสำหรับอับบาชี

“ผมคิดว่ามันมีส่วนของความวิกลจริตไปถึงมุมมองของการตามหาความพึงพอใจสำหรับการฆาตกรรมของเขา, เพศสภาพที่บิดเบี้ยว หรืออะไรที่ทำนองนั้น แต่อีกด้านผมสัมผัสถึงความไร้เดียงสาในตัวเขา มันเหมือนกับสังคมของเราเป็นคนสร้างฆาตกรต่อเนื่องขึ้นมา”

เมื่ออับบาซีย้ายไปใช้ชีวิตที่ประเทศเดนมาร์ก โดยไม่ต้องนั่งกังวลว่ากระทรวงวัฒนธรรมของชาติจะคอยไล่เซ็นเซอร์หนังของเขาหรือไม่

อับบาซีจึงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ที่เขาต้องการตีแผ่เรื่องราวของมันอย่างยาวนาน Holy Spider จึงกลายเป็นผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับรายนี้ กับมุมมองที่บิดเบี้ยวของสังคมต่อฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกยกย่องเป็นผู้กระทำภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ แทนจะเป็นปีศาจร้ายอย่างที่สังคมโลกเข้าใจ

ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะว่าด้วยเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่อง แต่ Holy Spider ไม่ใช่ภาพยนตร์ระทึกขวัญแบบที่เราได้รับชมกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะอับบาชีเลือกจะตีแผ่สถานการณ์และมุมมองอันบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในสังคมอิหร่าน ผ่านตัวละครนักข่าวสาวที่ถูกขัดขวางการตามล่าฆาตกรแมงมุมโดยตำรวจและผู้คนในเมือง เนื่องจากทุกคนต่างเชื่อว่าโสเภณีคืออาชีพที่สมควรถูกลงโทษจริง ๆ

“ความตั้งใจของผมไม่ใช่การสร้างภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องนะ แต่ผมอยากสร้างภาพยนตร์ที่บอกเล่าสังคมของฆาตกรต่อเนื่อง มันคือเรื่องราวของความเกลียดชังที่มีต่อผู้หญิงซึ่งฝังรากลึกในสังคมอิหร่าน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสนาหรือการเมือง แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมของเรา”

อับบาซีจึงปฏิเสธจะฉายภาพการฆาตกรรมผู้หญิงซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนภาพยนตร์ของเขา แต่ต้องการจะเจาะลึกลงไปยังความซับซ้อนของปัญหาที่ปรากฎขึ้นมาในสังคมอิหร่าน รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวของเหยื่อที่ถูกตามล่า อันเป็นเหรียญอีกด้านที่ภาพยนตร์แนวนี้มักมองข้ามไป

เมื่อบวกกับการสร้างตัวละครนักข่าวหญิง (รับบทโดย ซาร์ อาเมียร์ เอบราฮีมี) ที่เดินหน้าสืบหาฆาตกรแมงมุมแม้สวนทางกับความต้องการของผู้คนในสังคม นั่นยิ่งทำให้อับบาซีได้โอกาสก้าวไปสำรวจความเกลียดชังที่สังคมอิหร่านมีต่อเพศหญิง ซึ่งตามมุมมองของอับบาซีแล้ว นี่ไม่ใช่แนวคิดด้านลบที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคปฏิวัติอิสลาม แต่เพิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงในประเทศอิหร่าน เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

Holy Spider จึงกลายเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อในสังคมอิหร่านได้อย่างน่าประทับใจ จนส่งผลให้ ซาร์ อาเมียร์ เอบราฮีมี ก้าวไปคว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022 ซึ่งในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลอิหร่านได้ตอบโต้การมอบรางวัลครั้งนี้ว่า เป็นการดูถูกความเชื่อของชาวมุสลิมนับล้าน และมีนัยยะทางการเมืองอย่างจงใจ

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับรัฐบาลอิหร่านหรือไม่ Holy Spider ถือเป็นภาพยนตร์นอกกระแสที่มีคุณภาพ และยังตีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และมุมมองต่อศาสนาที่บิดเบี้ยวอย่างน่าสนใจ แฟนภาพยนตร์คุณภาพจึงไม่ควรพลาด Holy Spider ที่กำลังจะเข้าฉายในประเทศไทย วันที่ 6 ตุลาคมนี้ด้วยประการทั้งปวง

อ้างอิง

IndieWire
Tehran Times

More from us

นักเขียนประจำ The E World🌹