
เมื่อพูดถึง “Tango Gameworks” พัฒนาเกมที่ก่อตั้งโดย “Shinji Mikami” ผู้ให้กำเนิดเกมแฟรนไชส์ Resident Evil อันโด่งดัง เชื่อหลาย ๆ คนโดยเฉพาะคอเกม คงจะนึกถึงเกมแนว Horror Survival อย่าง “The Evil Within” ทั้งสองภาค และ Ghostwire: Tokyo เป็นอันดับแรก ๆ ในฐานะเกมที่สร้างชื่อให้พวกเขา
แต่ใครจะไปรู้ว่างทีมนี้ จากที่เคยสร้างแต่เกมสยองขวัญโทนหม่น ๆ มืด ๆ จะสร้างเกมแนว Action Hack n’ Slash ในโทนสีสันสดใส แถมมาพร้อมกับเกมเพลย์สุดโจ๊ะ ที่ต้องโจมตีตามจังหวะ อย่าง “Hi-Fi Rush” งานใหม่ล่าสุดที่อยู่ ๆ ก็วางขายในวันที่เปิดตัวเลย ทำเอาแฟนคลับของค่ายนี้ถึงกับช็อกไปตาม ๆ กัน เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้นไวมาก
และในเมื่อ Tango Gameworks จะมาเวย์ฉีก ด้วยการปล่อยเกมนี้ออกมาแล้ว The E World เลยขอหยิบมารีวิวกันแบบเน้น ๆ เพื่อมาดูกันว่าจะสมชื่อของผู้สร้างเกมดังทั้งสองภาคกันขนาดไหน
หวดให้ยับ ตามจังหวะชาวร็อก
“Hi-Fi Rush” (ไฮ-ไฟ รัช) เกมแนว Action ผสมผสานกับแนว Rhythm พัฒนาโดย Tango Gameworks จัดจำหน่ายในนามของ Bethesda Softworks ประกาศเปิดตัวและวางจำหน่ายในวันที่ 25 มกราคม 2023 ลงให้กับ PC และ Xbox Series X|S
ตัวเกมจะล่าถึง “Chai” ไอ้หนุ่มขาร็อกแขนเดียว (แขนซ้ายใช้การไม่ได้) ผู้ใฝ่ฝันที่จะเป็น Rockstar ได้ลงเข้ามาเป็นอาสาสมัครใน “Project Armstrong” โปรแกรมทดสอบการปลูกถ่ายอวัยวะจักรกลของบริษัท Vandelay Technologies แต่ดูเหมือน “Kale Vandelay” CEO ของบริษัทจะไม่ปลื้มเท่าไหร่ เพราะ Chai ไม่ใช่คนที่ดูจะเหมาะสมกับโปรเจกต์นี้เลย
และด้วยความซวยของ Chai หรือความสะเพร่าของท่านประธาน Kale ก็ไม่ทราบ ท่านประธานโยนเครื่องเล่นเพลงของ Chai ในกองสัมภาระทิ้ง แล้วดันร่วงไปลงที่หน้าอกของ Chai ที่กำลังจะเข้ากระบวนการผ่าตัดแบบพอดิบพอดี นั่นทำให้เครื่องเล่นเพลงของเขาถูกฝังอยู่ในหน้าอก นั่นทำให้ Chai สามารถรับรู้ถึงจังหวะดนตรีที่ผสานกับสิ่งรอบตัวของเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้น แขนเทียมข้างใหม่ ยังมาพร้อมกับอาวุธพิเศษ ที่สามารถดูดเศษเหล็กที่อยู่รอบ ๆ มาประกอบกันเป็นอาวุธที่มีรูปร่างคล้ายกีตาร์ได้
แต่เพราะมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไประหว่างการผ่าตัด เลยทำให้ Chai ถูกระบุว่าเป็นของบกพร่อง และถูกไล่ล่าโดยกองทัพหุ่นยนต์ของ Vandelay Technologies และได้รับการช่วยเหลือโดย Peppermint ที่มีเป้าหมายในการล้ม Kale และบริษัท Vandelay Technologies ลงให้ได้
เนื้อเรื่องของเกมนั้นจะมาในเวย์ที่สุดจะปุบปับ แบบนึกอะไรได้ก็ใส่เข้ามาเลย แต่ยังคงความไหลลื่นและเข้าใจง่าย อีกทั้งตัวละครเอกที่มาเวย์เบียวนิด ๆ ซึ่งสไตล์การเล่าเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Shaun of the Dead หนังซอมบี้สายคัลท์จากปี 2004 ที่กำกับโดย Edgar Wright
เกมเพลย์สุดโจ๊ะ แค่ตบให้ตรงล็อก
ระบบการเล่นของ “Hi-Fi Rush” ค่อนข้างเข้าใจง่าย การโจมตีจะแบ่งออกเป็นการตีเบาและหนัก และแบ่งจังหวะเป็นห้องเสียง โดยจังหวะการตีเบานั้นสามารถตีได้ต่อเนื่อง 1 ครั้งแต่ 1 ห้องเสียง ในขณะที่การตีหนักนั้นจะใช้ทั้งหมด 2 ห้อง คือการตีและการง้างกลับเพื่อเตรียมฟาดในครั้งต่อไป
ผู้เล่นสามารถผสมการตีเบาและหนัก เพื่อใช้ท่าโจมตีแบบต่าง ๆ และสามารถใช้แต้มที่สะสมมา ซื้อท่าโจมตีแบบใหม่ ๆ ได้ และเมื่อผู้เล่นสามารถสะสมประจุไฟฟ้าครบตามที่กำหนด ก็จะสามารถปล่อยท่าโจมตีแบบพิเศษออกมาสร้างความเสียหายแบบชุดใหญ่ได้ ทั้งนี้ วิธีการโจมตีและปล่อยท่าต่าง ๆ ต้องดูด้วยว่ากำลังต่อสู้กับศัตรูแบบไหนอยู่
ในส่วนนี้ถ้าใครคุ้นเคยกับเกมแฟรนไชส์ Devil May Cry เชื่อว่าจะเข้าใจระบบได้ไม่ยาก เพราะพื้นฐานมาจากเบ้าเดียวกันแบบกลาย ๆ จะต่างกันแค่ต้องเอาจังหวะเป็นที่ตั้ง แทนที่จะสแปมปุ่มเพื่อหยุมหัวศัตรูที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย
ถึงแม้เกมที่โจมตีตามจังหวะดนตรีนั้นจะไม่ใช่ของใหม่แล้ว แต่รูปแบบของ Hi-Fi Rush จะทำมาได้ละเอียดกว่าเกมอื่นอยู่นิดหน่อย
กราฟิกกระแทกตา เพลงร็อกกระแทกใจ
ในส่วนของงานภาพนั้น Hi-Fi Rush พัฒนาขึ้นมาด้วย Unreal Engine 4 มาพร้อมกับกราฟิกแบบ Cel shading ที่ดูคล้ายการ์ตูน 2D ในโทนสีที่สดใสสะดุดตา ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกความฉีกของ Tango Gameworks เพราะที่ผ่านมา มักจะสร้างเกมในโทนมืดมน เน้นสีเข้ม ๆ ทึม ๆ นั่นเลยทำให้คอเกมถึงกับต้องขยี้ตาดูชื่อพัฒนาหลายรอบ เพราะดูไม่ออกจริง ๆ ว่าสร้างโดยทีมงานเดียวกัน
เช่นเดียวกับสไตล์กราฟิกที่เป็นการ์ตูน เอฟเฟคต่าง ๆ ในเกมก็จะฉูดฉาดตูมตามเหมือนกับภาพที่มาจากการ์ตูนด้วย แต่ด้วยเกมเพลย์ที่ไว ทำให้เป็นอะไรที่ดูได้ยากว่าระหว่างที่นัวกันมันเกิดอะไรขึ้น
ส่วนในเรื่องดนตรีนั้นเรียกว่าจะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับเกมนี้ โดยตัวดนตรี Original ของเกม สร้างสรรค์ขึ้นมาโดย Shuichi Kobori อดีตนักแต่งเพลงของค่าย Konami และ Reo Uratani จาก Capcom ส่วนเสียงประกอบต่าง ๆ ในเกมนั้น เป็นฝีมือของ Masatoshi Yanagi นักออกแบบเสียงของ Tango Gameworks เอง
เท่านั้นยังไม่พอ ตัวเกมยังได้รับลิขสิทธิ์เพลงดังต่าง ๆ มาประกอบการเล่นและเนื้อเรื่องตลอดทั้งเกม ไม่ว่าจะเป็น "1,000,000" and "The Perfect Drug" โดย Nine Inch Nails, "Inazawa Chainsaw" ของ Number Girl หรือว่าจะเป็น "Lonely Boy" ของ The Black Keys เป็นต้น
และเพลงดังเหล่านี้นี่เอง ที่อาจจะสร้างความลำบากให้กับ Streamer ได้ เพราะเพลงเหล่านี้ล้วนมีลิขสิทธิ์ทั้งหมด ตัวเกมก็เลยมีตัวเลือก Streamer Mode ที่จะเปลี่ยนเพลงเหล่านี้ไปใช้เพลง Original ที่ผู้พัฒนาแต่งขึ้นมาใหม่แทน เพื่อให้เหล่า Streamer สามารถทำรายได้จากการเล่นเกมนี้อย่างเต็มที่
สรุป - เกมม้ามืดที่รู้ตัวอีกทีก็เข้าวินแล้ว
สำหรับ Hi-Fi Rush นับว่าเป็นเกมที่โผล่มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะตลอดเวลาที่พัฒนา ทาง Bethesda และ Tango Gameworks ไม่เคยปริปากอะไรเลย มาเห็นอีกทีก็วันวางขายเลย แต่ผลงานที่ได้นั้นเรียกได้ว่าผ่านการขัดเกลามาอย่างดี ด้วยเกมเพลย์ที่สนุก, เข้าใจง่าย และรู้เพลิดเพลินไปกับการเล่น ด้วย Gameplay ที่เน้นการจับจังหวะดนตรี นั่นอาจเป็นเพราะไม่เคยบอกใคร เลยทำให้ทีมงานสามารถทำเกมนี้ออกมาโดยไม่มีแรงกดดันจากความคาดหวัง
ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเกม Action Hack n’ Slash ทั่วไปอาจจะเล่น ๆ ไป ไม่ต้องคิดเยอะ แต่สำหรับ Hi-Fi Rush นั้น ถือว่ามีระบบการเล่นที่อาจจะยังไม่คุ้นชินสักเท่าไหร่ เพราะต้องเคาะหัวศัตรูตามจังหวะเพลงที่แบ่งเป็นห้องเสียงไว้ ซึ่งยังดีที่ระบบยังเรียนรู้ได้ง่าย เลยทำให้ผู้เล่นสามารถสนุกได้ในครึ่งแรกของบทนำ
นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับกราฟิกสีสันสดใส และบรรยากาศแบบการ์ตูน ไม่ทำให้รู้สึกปวดตาที่ต้องเพ่งจอนาน ๆ แต่อาจจะทำตาพร่าได้ง่าย ๆ เพราะโทนสีที่จี๊ดจ๊าดแบบสุดปลอก อีกทั้งตัวเกมที่มาพร้อมเอฟเฟคมากมาย ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างต่อสู้ได้ชัดเจน เพราะมันชุลมุนเกินไป
นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับเพลงโจ๊ะ ๆ จากวงร็อกชื่อดัง มากำกับจังหวะความมันส์ในฉากต่อสู้ต่าง ๆ ทำให้สามารถมีอารมณ์ร่วมกับเกมได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบในเพลงสไตล์ Rock n’ Roll เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทำไมควรเล่น?
- กราฟิกสดใสแบบการ์ตูน
- เกมเพลย์เข้าใจง่าย
- ระบบโจมตีตามจังหวะดนตรี ให้ความรู้สึกแปลกใหม่
- เนื้อเรื่องไปไวแต่เข้าใจง่าย
- เพลงร็อกติดหู
แต่เดี๋ยวก่อน
- ตัวเกมไม่ได้รัวมันส์ ๆ แบบ Hack n’ Slash ทั่วไป
- เข้าถึงยากหน่อย ถ้าไม่ใช่คนชอบเพลง Rock n’ Roll
- กราฟิกอาจแสบตาไปสำหรับบางคน และดูอะไร ๆ ได้ยากในฉากต่อสู้
Total : 9/10
เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง :
Kenny Omega จาก AEW ได้เป็นตัวละครรับเชิญใน Like a Dragon: Ishin! ฉบับ Remake
12 เกมมาใหม่ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023
5 คาแรคเตอร์ “ตัวซวย” ของโลกวิดีโอเกม