
แนวเกม Hero Shooter เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นจากการเปิดตัวของเกม Overwatch 2 รวมถึงกระแสที่มาแรงแบบไม่พักของเกม VALORANT ที่มีผู้เล่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นแนวเกมที่เข้าถึงได้ง่าย (แต่อาจเล่นให้เก่งได้ยาก ในบางกรณี) กลายเป็นเมนสตรีมในยุคปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับแนวเกมนี้คือ ตัวละคร หรือ ฮีโร่ ของเกมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะ นิสัย ความสามารถ หรือแม้แต่เรื่องการนำไปใช้เล่น ตัวละครจากเกมเหล่านี้กลายเป็นที่จดจำในกลุ่มเกมเมอร์ได้ดี บางอย่างก็ถูกพูดถึงในทางที่ดี บ้างก็ไม่ดี หลายเกมที่เปิดตัวขึ้นมาก็สามารถสร้างระบบการแข่งขันอีสปอร์ตขึ้นมาได้ ตัวละครหลายตัวจากเกมก็ถูกนำไปเลียนแบบในวงการคอสเพลย์หรือใช้โชว์และโปรโมตกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มเกมเมอร์และสตรีมเมอร์ กลายเป็นสีสันที่เกิดขึ้นในวงการเกมกันไป
แล้วที่มาของแนวเกม Hero Shooter เป็นยังไง เริ่มมาจากอะไร เรามีคำตอบให้แล้วที่นี่

แบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็น Hero Shooter
จุดเริ่มต้นของเกมแนว Hero Shooter นั้นมีรากฐานมาจากแนวเกม Tactical Shooter มาก่อน ซึ่งแนวเกมทั้งสองรูปแบบนี้จะเป็นเกมยิงในมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่ง (FPS) หรือบุคคลที่สาม (TPS) ก็ได้ โดยผู้เล่นจะต้องฟอร์มทีม 2 ทีมขึ้นไปที่มี “ตัวละคร” หรือ “ฮีโร่” ที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาต่อสู้กันในโหมดผู้เล่นหลายคน รูปแบบการเล่นทั้งสองแนวนี้เป็นแนวเกมย่อยของประเภทเกม “Team – Based Shooter” อีกที (หรืออาจเรียกว่า Team – Based FPS/TPS ก็ได้เช่นกัน)
หัวใจสำคัญของแนวเกมทั้งสองแนวคือผู้เล่นจะต้องเน้นการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงความสามารถของแต่ละตัวละครที่ตัวเกมวางไว้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ผู้พัฒนาเกมจะมีการสร้างตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างกัน ทุกตัวละครในเกมจะมีชื่อประจำตัว มีอาวุธ สกิล หรือแม้แต่ค่าพลังต่าง ๆ แตกต่างออกไป ความสามารถของตัวละครบางตัวก็ถูกออกแบบมาเพื่อกลยุทธ์รูปแบบหนึ่ง หรืออาจถูกใช้เพื่อ “แก้ทาง” ตัวละครอื่น ก็ว่าไปแล้วแต่กรณี
แต่สิ่งที่ทำให้ Hero Shooter แตกต่างไปจาก Tactical Shooter จริง ๆ และขาดไปไม่ได้เลยคือตัวละครทั้งหมดในเกมจะ “ไม่มีความเท่าเทียม” กันเลยในเรื่องของลักษณะเฉพาะตัว ก่อนเริ่มเกมผู้เล่นก็จะต้องตกลงกัน (หรือบางครั้งก็ต้องแก่งแย่งกัน) ในการเลือกตัวละครที่ตัวเองเล่นถนัด หรือมีความชอบเป็นการส่วนตัว เหตุผลนี้กลายเป็น “วัฒนธรรม” การแย่งตัวละครหลัก (ตัว Main) ที่เกมเมอร์หลายคนในยุคนี้อาจต้องมีประสบการณ์ชวนปวดหัวกันไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้บุกเบิกแนวเกมที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย
เกม Hero Shooter แรก ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามันคือเกมที่ฉีกจากเกมแนวอื่น ๆ ที่เคยมีในหมวดแอคชั่นก็คือเกม Tom Clancy’s Rainbow Six (1998) และ Delta Force (1998) แน่นอน โดยทั้งสองเกมมีความเป็น Tactical Shooter มารองพื้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตัวเกมสร้างออกมาให้แตกต่างไปจากเดิมคือการปรับเปลี่ยนให้ตัวละครแต่ละตัวมีชื่อ มีอาวุธและแกตเจตที่แตกต่างกันไป ผู้เล่นแต่ละคนในทีมก็จะต้องวางแผนกันให้ดีว่าใครต้องการจะเล่นแบบไหน ตัวละครอะไรเหมาะสมที่สุดกับผู้เล่นคนนั้น เกมทั้งสองนี้สร้างความแตกต่างและท้าทายในการเล่นมากขึ้นในยุคนั้น แต่ก็ไม่สามารถสู้กับกระแสของเกมแนว Run and Gun ในยุคนั้นที่มาแรงกว่าได้เลย ทำให้เกมแนวนี้ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในวงการเกมของยุคนั้นเท่าไรนัก
สองเกมที่เริ่มเข้ามาชูบทบาทของแนวเกม Hero Shooter อย่างจริงจังมากขึ้นอีกก็จะมีเกม Team Fortress Classic (1999) และเกม Battlefield 1942 (2002) โดยทั้งสองเกมนี้ได้นำระบบ “คลาสตัวละคร” (Class-based mechanics) มาเป็นฟีเจอร์หลักเป็นครั้งแรกในวงการเกมยิง คลาสตัวละครคือระบบที่ตัวละครจะมีอาวุธและแกตเจตต่าง ๆ ที่มีความสามารถต่างกัน ผู้เล่นจะไม่สามารถใช้อาวุธหรือแกตเจตจากคลาสอื่นได้เลย ด้วยความแปลกใหม่ของระบบนี้ เกมเมอร์สายแอคชั่นก็เริ่มให้ความสนใจกับรูปแบบเกมนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจและความท้าทายให้ค่ายเกมอื่น ๆ เริ่มมีความสนใจทำเกมแนวนี้เป็นของตัวเองบ้าง
ตัวอย่างที่ออกมาชัดเจนในยุคต้นมิลเลนเนียลก็จะมีเกม Star Wars: Battlefront (2004) ที่หันมาใช้ระบบคลาสตัวละครอย่างจริงจังและกลายเป็นอีกหนึ่งเกมที่โด่งดังในยุคนั้นไปเลย นอกจากนี้ยังมีเกม Team Fortress 2 ในปี 2007 ที่เริ่มเข้ามาสร้างบทบาทให้กับเกมแนว Hero Shooter เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยตัวละครในเกมจะยังคงระบบ Class-based ไว้อยู่ แต่ลักษณะของตัวละครจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ตัวละครพวกนี้เริ่มมีตัวตน เรื่องราว รวมถึงความสามารถที่โดดเด่นขึ้น ผู้เล่นก็จะมีความรู้สึกในการเลือกใช้ตัวละครได้สมบทบาทและมีผลทางใจมากขึ้นอีกด้วย
อีกการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเกม Team Fortress 2 คือการสร้างแอนิเมชันแนะนำตัวละครต่าง ๆ ในเกมของพวกเขา คลิปวิดีโอแรกของพวกเขามีชื่อว่า Meet the Team โดยมีการนำเรื่องราวของตัวละครต่าง ๆ มาแนะนำให้รู้จักเบื้องหลังมากขึ้น คลิปวิดีโอนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเกมเมอร์ ผลตอบรับนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแอนิเมชันแนะนำตัวละครใหม่ในเกมแนว Hero Shooter มากขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่นั้นมา

ยุค Overwatch ปะทะ Battleborn
ในปี 2014 แนวเกม Hero Shooter เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกครั้งหลังจากมีการเปิดตัวโปรเจกต์เกม Battleborn และ Overwatch ในปีเดียวกัน โดยทั้งสองเกมก็ได้เปิดให้เล่นครั้งในปี 2016 เช่นเดียวกัน ทางค่าย Gearbox Software ผู้พัฒนาเกม Battleborn เริ่มนำชื่อ “Hero Shooter” มาใช้ผ่านหน้าสื่อเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนกันยายนปี 2014 โดยพวกเขามีคำอธิบายไว้ว่าเกม ๆ นี้จะมีความแตกต่างไปจากแนวเกม MOBA ด้วยความให้เกมเป็นแนว FPS ที่มีตัวละครเป็นใจกลางหลักและต้องการให้มีความเป็นเกมต่อสู้ผสมเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย ใด ๆ ที่สุดคือความเป็นฮีโร่ต้องโดดเด่นที่สุด
หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน ทางค่าย Blizzard Entertainment ผู้พัฒนาเกม Overwatch ที่เป็นคู่แข่งกันก็ออกมาแถลงการณ์หน้าสื่อว่าเกมของพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมากมายมาจาก Team Fortress 2 และเกม MOBA ต่าง ๆ โดยพวกเขาไม่ได้ใช้คำว่า Hero Shooter ออกหน้าสื่อเลย
แต่เดิมในปี 2013 พวกเขามีแผนที่จะพัฒนาเกม Titan ซึ่งจะใช้ระบบ Class-based shooter เป็นหลัก ทีมงานของเกมมีการนำเสนอระบบคลาสที่มีเยอะเกินไป ทำให้ทางทีมบริหาร Blizzard ไม่พอใจกับระบบเกมนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจยกเลิกโปรเจกต์และปลดทีมงานบางส่วนออกไปในปีนั้น
หลังจากนั้นทีมงานที่เหลือก็ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยการสร้างโปรเจกต์ใหม่ มีการนำระบบคลาสจากโปรเจกต์ Titan มารื้อใหม่แล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบฮีโร่แทน มีการสร้างเรื่องราว รายละเอียดเฉพาะเจาะจงของตัวละครต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้โปรเจกต์ใหม่ของพวกเขามีความเป็น Team-Based Hero Shooter มากขึ้น
สุดท้ายโปรเจกต์นี้เลยได้ชื่อเป็น Overwatch ที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ตัวเกมพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาเกือบ 3 ปีก่อนที่จะเริ่มเปิดให้เล่นครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2016
กระแสของเกม Overwatch ที่มาแรงอย่างต่อเนื่องทำให้คู่แข่งอย่าง Battleborn หรือเกมอื่น ๆ ก็เริ่มปิดตัวเซิฟเวอร์ของตัวเองไปตามกาลเวลา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงกระแสการชูโรงฮีโร่ในเกมให้เด่นขึ้น ทำให้ผู้เล่นรู้สึก ‘อิน’ มากขึ้นเมื่อได้สวมบทบาท ทำให้เกม Hero Shooter จากค่ายอื่น ๆ ก็ต้องปรับตัวตามกันไปด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดคือระบบการสร้างตัวละครให้มีความแตกต่างกันไป รวมถึงมีการพากย์เสียงตัวละครให้น่าจดจำมากขึ้นอีกด้วย ในขณะที่แนวเกม Hero Shooter ก็กลายเป็นกระแสหลักในยุคนี้ไปแล้ว

Teamwork is the key แต่บางครั้งก็แพ้ตัวละคร OP
คีย์สำคัญที่จะทำให้ผู้เล่นชนะเกมแนวนี้ได้คือ “ระบบทีมเวิร์ก” ที่ผู้เล่นทุกคนในทีมเดียวกันจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันให้เหมาะสม มันมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่ผู้เล่นคนเดียวจะสามารถคุมเกมทั้งหมดได้ถ้าหากไม่มีการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ เลย
หรือในบางโอกาส ผู้พัฒนาเกมอาจมีการสร้างตัวละครหนึ่งขึ้นมาให้เก่งกว่าตัวอื่น ตัวละครลักษณะนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็น “ตัว OP” (Overpowered) หรือ Above Average (มีความสามารถสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป) ทำให้ตัวละครเหล่านี้กลายเป็น “ตัว META” ของเกม ๆ นั้นไปเลย
แน่นอนว่าผู้พัฒนาเกมส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะอุดปัญหาการใช้ตัวละครซ้ำหรือ “โกงเกินไป” ด้วยการสร้างระบบ “ปรับสมดุลเกม” ขึ้นมา หลาย ๆ ครั้งเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวละครในเกมมากมาย ตัวละครเก่ง ๆ ก็จะถูก ‘เนิร์ฟ’ ไม่ก็ ‘ปรับสมดุลใหม่’ หรือตัวละครที่ผู้เล่นไม่ค่อยเลือกใช้ก็จะได้ ‘บัฟ’ ไปตามเหมาะสม ฟีดแบ็กการเล่นของผู้เล่นทั่วไป นักกีฬาอีสปอร์ต หรือแม้แต่สถิติต่าง ๆ ในเกมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถของตัวละครเมื่อนำไปใช้ในเกม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมพัฒนาเกมเป็นหลักว่าพวกเขาจะนำสถิติเหล่านี้ไปปรับตัวละครรวมถึงรูปแบบเกมให้มีความเท่าเทียมกว่าเดิมหรือไม่ หรืออาจเป็นการปรับตัวละครและรูปแบบการเล่นใหม่เพื่อให้ตัวเกมมีแผนการเล่นใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง ทั้งหมดนี้ก็ต้องว่าไปตามการตัดสินใจของทีมงาน
ส่วนผู้เล่นทุกคนก็จะต้องปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ให้ได้ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในเกมไปสักวันหนึ่ง แน่นอนว่าถ้าหากเราเล่นเกมเดิม ที่มีแต่รูปแบบเดิม ๆ ความสนุกมันก็จะคงอยู่ไม่นานแล้วก็มีแต่ความเบื่อหน่ายในวันข้างหน้า ผู้พัฒนาเกมก็มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ได้โดยที่ไม่ให้ตัวเกมเสียสมดุลไปเลย

Hero Shooter ที่ไม่ใช่ Hero Shooter??
ในบางเกม ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องใช้ฮีโร่ที่แตกต่างกันในการต่อสู้ แต่จะใช้ “อาวุธที่เหนือกว่า” มาเป็นตัวช่วยในการเล่น ความสามารถในการเล่นจะถูกกำหนดผ่านรูปแบบการใช้งานของอาวุธต่าง ๆ ในเกม (รวมถึงแกตเจตต่าง ๆ ด้วยถ้ามี)
ตัวอย่างเกมดังที่ใช้ระบบนี้ชัดเจนที่สุดก็จะมีเกม Counter-Strike และ Call of Duty ที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่องในรอบหลายสิบปีนี้ โดยทั้งสองเกมมีตัวละครที่มีชื่อและลักษณะต่างกันก็จริง แต่ระบบสกิลของตัวละครในเกมนั้นมีค่าเท่ากันหมด ไม่มีใครพิเศษไปกว่าใคร ระบบเกมนี้ก็เลยต้องวัดความสามารถกันด้วยความสามารถในการใช้อาวุธและแกตเจตต่าง ๆ รวมถึงการยืนตำแหน่งในการต่อสู้กันเป็นหลัก
สรุปคือ ถ้าหากเกม ๆ นั้นมีระบบตัวละคร แล้วความสามารถของตัวละครในเกมมีความแตกต่างกันไป แล้วสามารถเอาไปใช้ต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่นได้ จะเรียกว่าเป็นเกม Hero Shooter แต่ถ้าหากเกมนั้นมีแค่ตัวละครที่มีลักษณะต่างกัน แต่ความสามารถตัวละครเหมือนกันหมด อาจเล่นคนเดียวหรือสู้กับคนอื่นก็ได้ จะเรียกว่าเป็นเกม Tactical Shooter

อยากเก่งเกมแนวนี้ ต้องกระเป๋าหนัก จริงมั้ย?
เกมแนว Hero Shooter และ Tactical Shooter ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีระบบที่เหมือนกันคือตัวละครของเกมเหล่านี้จะมาในรูปแบบ “สกิน” (Skin) ที่ผู้เล่นจะสามารถเลือกซื้อเพิ่มได้ด้วยเครดิตในเกมหรือเงินจริง ขึ้นอยู่กับ “ระดับความหายาก” ของสกินนั้น แต่ระบบสกินตัวละครแทบไม่มีผลอะไรกับการเล่นเลย มันเป็นความสุขทางใจของผู้เล่นหลายคนและเป็นช่องทางหารายได้ของผู้พัฒนาเกมเสียมากกว่า โดยผู้พัฒนาเกมจะนำระบบ Microtransaction (หรือ In-app purchase) เข้ามาเพื่อให้ผู้เล่นมีความอยากที่จะเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อไอเทมพิเศษเหล่านี้ไปครอบครอง
อย่างไรก็ดี บางเกมในปัจจุบันมีการใช้ระบบ Microtransaction ที่ต่างจากแบบปกติเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเลือกซื้อไอเทมพิเศษในเกมที่จะมีความสามารถแตกต่างและโดดเด่นกว่าไอเทมปกติที่หาได้ในเกม เช่น ไอเทมอาวุธปืนที่มีค่าพลังสูงขึ้น กระสุนเพิ่มขึ้น หรือไอเทมป้องกันต่าง ๆ ที่ดีกว่าแบบทั่วไปในเกม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วไอเทมเหล่านี้ต้องใช้เงินจริงในการซื้อ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนได้รับแรงจูงใจในการเสียเงินซื้อไอเทมพวกนี้มาใช้ในเกม ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นที่ไม่มีไอเทมเหล่านี้จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบอยู่ กลายเป็นประโยคล้อเลียนที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีว่าเป็นเกม Pay to win (จ่ายเงินเพื่อเอาชนะ) นั่นเอง
ทั้งนี้ยังมีอีกกรณีพิเศษที่ไม่นับว่าเป็นการ Pay to win แต่จะเป็นเหมือนการปลดล็อกฟีเจอร์ของเกมให้ไวขึ้นมากกว่า โดยผู้เล่นจะมีตัวเลือกอยู่สามทางหลัก ๆ ระหว่างเลือกซื้อตัวเกมใน ‘เอดิชัน’ แบบ Standard (บางเกมอาจมีแบบ Starter edition ให้เลือกซื้อหรืออาจเป็นเกม Free to play อยู่แล้ว) แล้วใช้วิธีการเก็บ EXP หรือเครดิตในเกมเพื่อปลดล็อกตัวละครไปเรื่อย ๆ แต่อาจทำได้ช้า หรืออาจใช้วิธีการซื้อเกมในเอดิชันที่สูงขึ้นเพื่อปลดล็อกตัวละครในเกมมาใช้งานได้เลย หรือวิธีสุดท้ายคือการใช้ Microtransaction เสียเงินจริงเพื่อซื้อเครดิตเพิ่มเข้าไปในเกม
ระบบตัวละครต่าง ๆ ที่ได้มาจะไม่มีความพิเศษใด ๆ ไปจากรูปแบบเกมทั่วไปเลย แต่มันคือทางเลือกที่ผู้พัฒนาเกมเปิดให้ผู้เล่นเลือกระหว่างให้เราเหนื่อยกับการปลดล็อกตัวละครหรืออยากเสียเงินจริงให้พวกเขาเพื่อลัดขั้นตอนนี้ไป
ตัวอย่างเกม Hero Shooter ดัง ๆ ในยุคปัจจุบันที่ใช้ระบบนี้อยู่ก็จะมีเกม Apex Legends, VALORANT และ Rainbow Six: Siege ซึ่งเกมเหล่านี้ไม่มีระบบ Pay to win มาช่วยเสริมการเล่นให้เห็นเลย แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะเสียเงินไปกับการซื้อสกินต่าง ๆ ในเกมมากกว่า

สรุปง่าย ๆ กันอีกครั้ง เกม Hero Shooter จะต้องมีแก่นสำคัญคือลักษณะและความสามารถของตัวละครที่แตกต่างกัน อาจมีความต่างในเรื่องของอาวุธ สกิลส่วนตัว หรือลักษณะพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้าหากเกม ๆ นั้นมีความต่างกันแค่เรื่องลักษณะตัวละครแต่ความสามารถของตัวละครมีค่าเท่ากันหมด เกม ๆ นั้นจะไม่ใช่แนว Hero Shooter อย่างแท้จริง
ที่มา:
10 games like Overwatch you'll want to squad up for | GamesRadar+
What the strange evolution of the hero shooter tells us about the genre's future | PC Gamer
How Team Fortress 2's silly videos sparked a whole new era of shooters | PC Gamer
Hero Shooters and You - The Birth of a Genre (trueachievements.com)
How will Gigantic stand out in a world ruled by Overwatch? | PC Gamer