
หากตัวการ์ตูนบนโลกนี้ จู่ ๆ เกิดมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ คุณคิดว่าพวกเขาจะหยิบยื่นความสุขให้แก่เด็ก ๆ ทั่วโลกได้มากมายแค่ไหน? โดราเอมอนคงจะมือวุ่นเป็นระวิงแน่แท้ เพราะต้องคอยล้วงกระเป๋าหน้าท้องแล้วเอา “ของวิเศษ” มาแจกให้เด็ก ๆ กันทั้งวัน บรรดาเจ้าหญิงดิสนีย์ก็คงจะเดินเข้าไปสวมกอดเด็กตัวน้อย ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่สักที่ ในทันทีที่พวกเธอเห็น พร้อมกับมอบรอยยิ้มหวาน ๆ สร้างกำลังใจให้อย่างเป็นกันเอง กัปตันสึบาสะกับผองเพื่อน ก็อาจกำลังกอดคอเด็ก ๆ และตะโกนบอกว่า จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ลงมือไล่ตามความฝัน จงมีความเชื่อมั่นเข้าไว้ และสู้ต่อไปอย่างไม่ท้อถอย แล้วสักวันความสำเร็จนั้นมันจะเป็นของเรา!
ใช่ครับ เพราะการ์ตูนส่วนใหญ่ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ สร้างความสุข ส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้กับประชากรมนุษย์ทั้งหลายบนโลกใบนี้ แต่เชื่อไหมครับว่า ณ อีกซอกมุมหนึ่งของสังคม … กลับปรากฏตัวการ์ตูนตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะแทนที่จะสร้างความสุข แต่การ์ตูนตัวนี้กลับถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และกดดันมากกว่านั้นคือ คอยดูดซับความเศร้า สะท้อนภาพความโหดร้ายของสงคราม กอบกู้เอกราช และแบกรับความหวังของเผ่าพันธุ์ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ตัวการ์ตูนเด็กชายวัยเพียงแค่ 10 ขวบตัวหนึ่ง ต้องแบกรับไว้ ชื่อของเจ้าตัวการ์ตูนที่ว่านี้ คือ “ฮันดาลา” (Handala)
นาจิ อัล-อาลี : วอลท์ดิสนีย์แห่งโลกดิสโทเปีย
ฮันดาลาถือกำเนิดจากนักวาดชื่อ นาจิ อัล-อาลี (Naji-Al-Ali) ซึ่งถ้าโลกรู้จักวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ ในฐานะนักวาด ผู้สร้างโลกแฟนตาซีแห่งความสุข และบิดาของมิกกี้เมาส์แล้วล่ะก็ นาจิ อัล-อาลี ก็คือดิสนีย์แห่งโลกที่อยู่คนละฟากกันนั่นเอง มาครับ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
นาจิ อัล-อาลี หรือ นาจิ เกิดในปี ค.ศ.1938 ที่อัล-ซาจารา (Al-Shajara) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่ทางตอนเหนือของดินแดนปาเลสไตน์ เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในหมู่บ้านแห่งนี้ จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ.1948 ความสงบสุขก็มลายหายไป เนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงดินแดนขึ้นระหว่างฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายชาวปาเลสไตน์ที่มีประเทศในกลุ่มอาหรับ อย่าง อียิปต์ เลบานอน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบียหนุนหลัง (ความขัดแย้งดังกล่าวมักถูกเรียกว่า สงครามปาเลสไตน์ หรือ สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล)
ด้วยเหตุนี้เด็กชายนาจิในวัยเพียง 10 ขวบ พร้อมกับครอบครัว ต้องอพยพหนีความโหดร้ายของสงครามไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอิลอัลฮิเวห์ (Ain al-Hilweh) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเลบานอน
ขณะใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย นาจิได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยได้เข้าเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นอยู่นานหลายปีจนกระทั่งจบหลักสูตร จากนั้นนาจิจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อในสายวิชาชีพอีก 2 ปีที่กรุงทริโปลี ประเทศลิเบีย ก่อนที่จะกลับมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ชื่อ ซาทีล่า (Shatila refugee camp) ในประเทศเลบานอน
ขณะอาศัยอยู่ในประเทศเลบานอน นาจิได้มีโอกาสเข้าร่วม “ขบวนการชาตินิยมอาหรับ (ANM)” และเริ่มต้นจับปากกาเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองลงในวารสารท้องถิ่น นอกจากนั้น นาจิยังตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อที่สถาบันสอนศิลปะอีกด้วย แต่ก็ไม่สามารถเรียนให้จบตามหลักสูตรได้ เนื่องจากตัวเขาเองถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายทางการเมือง เสียก่อน
และระหว่างที่นาจิกำลังถูกคุมขังอยู่นั้น กาสซาน คานาฟานี่ (Ghassan Kanafani) ซึ่งเป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังชาวปาเลสไตน์ ตัดสินใจเดินทางไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัย อิลอัลฮิเวห์ (Ain al-Hilweh) และมีโอกาสได้เห็นภาพการ์ตูนที่นาจิวาดขึ้น
กาสซานมีความประทับใจผลงานการ์ตูนของนาจิมาก จนถึงกับนำมาตีพิมพ์คู่กับบทความของตัวเองในหนังสือพิมพ์อัล-เฮอร์ริญา (Al-Hurriya) เลยทีเดียว และนั่นถือว่าเป็นครั้งแรกที่ลายเส้นการ์ตูนของนาจิได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโลกอาหรับ
สำหรับเนื้อหาประกอบภาพการ์ตูนที่กาสซานเขียนลงหนังสือพิมพ์นั้น เป็นบทความที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตนาจิ ตั้งแต่วัยเด็กและความฝันของเขาในการวาดการ์ตูนต่างๆเพื่อเรียกร้องสันติภาพให้แก่ชาวปาเลสไตน์
นาจิถูกปล่อยตัวออกจากคุกในปี ค.ศ.1963 จากนั้นเขาก็ตัดสินใจย้ายไปพำนักในประเทศคูเวต ที่ซึ่งเขาได้เข้าทำงานเป็นบรรณาธิการ และนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์อัล-ซิยาสซ่า (Al-Siyasa) จนกระทั่งในปี ค.ศ.1968 ตัวการ์ตูนอย่างฮันดาลา (Handala) ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
Handala: เด็กชายที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัย และไม่ยอมเปิดเผยใบหน้า
คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน Handala นั้นเป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์ที่มีอายุ 10 ขวบ โดยชื่อ Handala มาจากภาษาอาหรับที่แปลว่า “ความขมขื่น” เสื้อผ้าของ Handala จะดูเก่าและมีรอยปะชุนอยู่เสมอ เส้นผมของเขามีลักษณะเป็นหนามแหลมคล้ายขนเม่น เท้าของ Handala เปลือยเปล่าเฉกเช่นเดียวกับเด็ก ๆ ชาวปาเลสไตน์คนอื่นที่ต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
นาจิเคยกล่าวถึงตัวการ์ตูนที่เปรียบเสมือนเป็นลายเซ็นของเขาอย่าง ฮันดาลา (Handala) นี้ไว้ว่า “เด็กผู้ชายคนที่ผมวาดขึ้นมานี้เปรียบเสมือนดั่งพยานของชีวิตช่วงวัยเด็กอันยากลำบากของผม” และ “ผมตั้งใจวาดเขาออกมาให้ไม่สวยงามนัก เขาไม่เหมือนเด็กชายวัย 10 ขวบทั่ว ๆ ไป เพราะเขามาจากดินแดนที่ยากไร้ แบกรับความหวังของชนชาติปาเลสไตน์ที่กำลังถูกกลืน และเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความลำบากที่แท้จริง ซึ่งเด็ก ๆ ชาวปาเลสไตน์ทุกคนกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผมเองในวัยเด็ก ที่ต้องอพยพออกจากแผ่นดินบ้านเกิด เพื่อมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตั้งแต่อายุ 10 ขวบ” และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวการ์ตูนอย่างฮันดาลา (Handala) นั้นมีอายุ 10 ขวบพอดี (ตรงกับช่วงอายุของนาจิตอนที่เขาอพยพไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเลบานอน)
“เรื่องอายุของฮันดาลา (Handala) นั้น แน่นอน! ถูกผมแช่แข็งไว้ ผมตั้งใจให้เขาเกิดมาก็มีอายุ 10 ขวบเลย และเขาจะมีอายุ 10 ขวบตลอดไป จนกว่าชาวปาเลสไตน์จะได้ดินแดนของตนเองคืน แล้วเมื่อนั้น Handala ก็จะเริ่มโตขึ้นอย่างเด็กปกติทั่วไปอีกครั้ง” นาจิกล่าว
อีกหนึ่งบุคลิกสำคัญที่ทำให้ตัวการ์ตูนฮันดาลา (Handala) ดูแตกต่างไปจากตัวการ์ตูนอื่น ๆในโลก ก็คือ การเอามือไพล่หลัง และหันหลังให้กับคนอ่านอยู่ตลอดเวลา นาจิเองเคยให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นนี้ไว้ว่า “ตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 เป็นต้นไป (เป็นปีเดียวกับที่สงครามระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลสิ้นสุดลง และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องการรบให้ฝ่ายอิสราเอลอย่างเต็มตัว) เด็กชายฮันดาลา (Handala) จะไม่หันหน้าเข้ามาทักทายผู้อ่านอีกแล้ว เพราะเขาผิดหวังกับผลลัพธ์ของสงครามที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และเขาตั้งปณิธานไว้ว่าจะหันหน้ากลับมาทักทายผู้อ่านอีกครั้งก็ต่อเมื่อ เกียรติภูมิของชาวอาหรับถูกกอบกู้ และแผ่นดินปาเลสไตน์ได้รับการปลดปล่อยกลับคืนมา”
…ซึ่งนับแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่เคยมีผู้อ่านคนไหนได้เห็นใบหน้าของตัวการ์ตูนฮันดาลา (Handala) อีกเลย…
ความตายที่พรากเพียงลมหายใจ แต่ไม่ใช่ “จิตวิญญาณ”
เนื่องจากผลงานการวาดการ์ตูนของนาจิ มีเนื้อหาที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในตะวันออกกลางอย่างตรงไปตรงมา และบางครั้งก็ดุเดือดเลือดพล่าน จึงทำให้กระแสตอบรับจากผู้อ่านนั้นหลากหลายมาก มีตั้งแต่กลุ่มที่ชอบเสพผลงานของเขาแบบคลั่งไคล้ ไปจนถึงกลุ่มที่เกลียดเขาอย่างเข้าไส้เลย
ในเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1987 ระหว่างที่นาจิกำลังเดินทางไปทำงานที่สำนักหนังสือพิมพ์ Al-Qabas ในลอนดอน เขาถูกบุคคลนิรนามลอบยิงที่ขมับขวา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตลงในอีกหนึ่งเดือนต่อมา (29 สิงหาคม ค.ศ.1987) ซึ่งผลการสืบสวนในคดีดังกล่าวยังคงคลุมเครือมาจนถึงปัจจุบัน (ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าเป็นฝีมือของหน่วยข่าวกรองอิสราเอลหรือมอสซาด)
แม้นาจิจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ชะตาชีวิตของตัวการ์ตูนอย่างฮันดาลา (Handala) ที่เขาสรรค์สร้างขึ้นกลับมิได้หายไปด้วย
…ตรงกันข้ามมันกลับยังปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่งที่อยู่แวดล้อมประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์
นั่นทำให้ฮันดาลา (Handala) กลายเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากเหตุการณ์ลอบสังหารนาจิ และส่งผลให้ตัวการ์ตูนเด็กชายวัย 10 ขวบซึ่งจะไม่โตขึ้นคนนี้ ทำหน้าที่เป็นดั่งกระบอกเสียงสำคัญของชาวปาเลสไตน์ในการเรียกร้องความเสมอภาค และเอกราชเหนือดินแดน ตราบจนปัจจุบัน
…ดังคำที่นาจิเคยกล่าวว่า “การ์ตูนตัวนี้ถูกผมสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นผู้อยู่รอด และแน่นอนจิตวิญญาณของผมจะยังคงวนเวียนอยู่ในตัวเขา แม้ยามที่ร่างกายของผมตายไป”
ลมหายใจของ Handala และการส่งต่อความหวังจากรุ่นสู่รุ่น
เป็นเวลาเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่วินาทีที่ตัวการ์ตูนฮันดาลา (Handala) ลืมตาดูโลกในปี ค.ศ. 1963 แต่ ทุกวันนี้ในดินแดนปาเลสไตน์ โดยเฉพาะในเขตเวสต์แบงก์ ยังมีภาพของ Handala ปรากฏอยู่ตามกำแพงต่าง ๆ เต็มไปหมด เด็กชาย Handala ยังคงถูกนำมาใช้ในการเรียกร้องอิสรภาพของชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ทั่วโลกเสมอ ๆ

และแม้ผู้รังสรรค์อย่างนาจิจะจากพวกเราไปนานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามวลมนุษยชาติคือ ความขัดแย้งยังคงมีอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ชาวปาเลสไตน์ยังคงเผชิญหน้ากับการกดขี่ และยังเรียกร้องเอกราชอยู่เช่นเดิม
…พวกเขาหวังว่า คงมีสักวันหนึ่งที่เจ้าหนูฮันดาลา (Handala) จะหันหน้ากลับมาสบสายตากับผู้อ่าน อีกครั้ง…
“LET THIS CHILD RETURN HOME”
(Naji al-Ali, นักวาดการ์ตูน Handala)
แหล่งอ้างอิง
http://www.handala.org/handala/
https://storiesfrompalestine.info/2021/07/25/handala/
https://en.wikipedia.org/wiki/Naji_al-Ali
https://globalvoices.org/2012/07/22/palestine-remembering-political-cartoonist-naji-al-ali/