
“อุปรากรจีน” หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า “งิ้ว” (Chinese Opera) เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมาอย่างยาวนาน มีรูปแบบเป็นละครขับร้องที่นำเหตุการณ์ หรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาใช้เป็นบทแสดงประกอบการร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงาม
เนื่องจากบทงิ้วมักมาจากพงศาวดาร และนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของมันจึงมักเกี่ยวกับกษัตริย์, ขุนนาง, แม่ทัพผู้เก่งกาจ หรืออาจเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าที่แสดงปาฏิหาริย์, หรือเรื่องราวสอนใจที่ปลูกฝังค่านิยมดีๆ ให้ผู้คนซื่อสัตย์ รักชาติบ้านเมือง เคารพพ่อแม่ และบรรพบุรุษ ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดีอะไรประมาณนี้
แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งงิ้วเคยปริวรรตไปเป็น “อุปกรณ์” ที่ใช้ในการปฏิวัติให้สังคมมี “ความเท่าเทียมกัน”
ไม่มีอีกแล้วที่บทเด่นจะจำกัดอยู่แค่วรรณะผู้ปกครอง…
ไม่มีอีกแล้วที่เพศชายเท่านั้นจึงเป็นผู้นำได้…
ไม่มีอีกแล้วที่ผู้สูงวัยจะถูกเชื่อมโยงกับความเฉลียวฉลาด และน่าเคารพ…
…เผลอๆ คนแก่โง่และคร่ำครึจะถูกเด็กในอุปรากรตบหัว แล้วบังคับให้วิจารณ์ตนเองจนอับอายด้วย!
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น!?
…งิ้วผ่านอะไรมาบ้างจึงเป็น “งิ้ว” เช่นทุกวันนี้…
มาหาคำตอบไปด้วยกัน ในบทความ Borderless ตอน “งิ้ว… เพื่อการปฏิวัติ!?” นี้กันนะครับ
จุดเริ่มต้นของงิ้ว
งิ้วเป็นการแสดงที่อยู่คู่กับจีนมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยพัฒนาจากการผสมผสานศิลปะการแสดงหลายอย่างจนมีรูปแบบ “ค่อนข้างอยู่ตัว” ในสมัยราชวงศ์ซ่งช่วงศตวรรษที่ 13 ตอนนั้นงิ้วยังมีความซับซ้อนไม่มาก แต่ต่อมาได้มีการเพิ่มเครื่องดนตรี อุปกรณ์การแต่งหน้า และการใช้กายกรรม กับวิชาของผู้ฝึกยุทธมาประกอบการแสดงด้วย จนมีความซับซ้อนขึ้น
งิ้วนั้นมีหลายรูปแบบ เช่นงิ้ว “จ๋าจวี่” (杂剧) ที่ตัวละครเอกเท่านั้นที่มีบทร้อง และมักมีสี่องค์ ในศตวรรษที่ 14 ยังเกิดงิ้วที่เรียกว่า “คุนฉวี่” (昆曲) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยการขับร้องที่ไพเราะนุ่มนวล และการใช้ภาษาที่งดงาม
เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 ในราชวงศ์ชิง คณะงิ้วท้องถิ่นต่างรวมตัวกันเข้ามาที่เมืองปักกิ่งเพื่อทำการแสดงเฉลิมฉลองให้กับจักรพรรดิเฉียนหลงจึงมีการแสดงงิ้วร่วมกันบนเวที จากความร่วมมือนี้เองทำให้เกิดรูปแบบการแสดงงิ้วที่มีความหลากหลายและยังเป็นจุดกำเนิดของ “งิ้วปักกิ่ง” อันมีชื่อเสียงโด่งดัง
จนกระทั่งถึงสมัยของพระนางซูสีไทเฮา (1861 - 1908) เป็นยุคที่การแสดงงิ้วรุ่งเรืองมาก เนื่องจากพระนางทรงชื่นชอบดูงิ้วทำให้เหล่าขุนนางต่างอุปถัมภ์คณะละครงิ้วไว้มากมาย
เมื่อพระนางซูสีไทเฮาสวรรคตบทบาทของงิ้วที่มีต่อราชสำนักก็เริ่มลดน้อยลง อย่างไรก็ตามคณะละครงิ้วยังคงมีการแสดงอยู่เรื่อยๆ พัฒนาไปตามยุคสมัยจนกระทั่งถึงยุคหนึ่งของจีน เรียกว่า “ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม”…
ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม
ปี 1949 เหมาเจ๋อตงได้นำกองทัพแดงรบชนะสงครามกลางเมือง สถาปนาจีนเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ทำให้จีนตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์
เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาพยายามส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกด้าน ภายใต้หลักการ “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) เช่น ปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนอย่างหนัก แม้ช่วงหนึ่งเหมาพยายามประนีประนอมกับกลุ่มปัญญาชนในจีนที่มีความคิดหลากหลาย แต่เขาเองดำเนินนโยบายผิดพลาดหลายอย่าง ทำให้จีนเกิด “ความอดอยากครั้งใหญ่” (Great Chinese Famine 1959-1961) มีคนตาย 15-55 ล้านคน และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหมาขึ้นมากมาย
ตอนนั้นเหมาชราแล้วมีความหวาดระแวงว่าตนจะถูกโค่นอำนาจ เขาจึงหันไปหากลุ่มเยาวชนที่ถูกล้างสมองให้รักเขาหรือพวกเรดการ์ด ให้ออกมาเคลื่อนไหวภายใต้แคมเปญ "การปฏิวัติวัฒนธรรม”...
การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในปี 1966 ภายนอกนั้นอ้างว่ามีอุดมการณ์กำจัด ‘สิ่งเก่า’ เช่นวัฒนธรรมประเพณี หรือแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและทำให้ประเทศล้าหลัง แล้วสร้างสังคมในอุดมคติที่ทุกชนชั้นมีความเท่าเทียมกันขึ้นมาแทน
ในทางปฏิบัติพวกเรดการ์ดจะใช้ข้ออ้าง “กำจัดสิ่งเก่า” นี้ บุกเข้าทำลายคู่แข่งทางการเมืองของเหมา ซึ่งในยุคนั้นความผิดจิปาถะเช่น อ่านหนังสือขงจื้อ, ไหว้พระ, หรือไม่เคารพเหมาเจ๋อตงมากพอ ก็สามาถทำให้ถูกใส่ความเป็นศัตรูของรัฐ และถูกลงโทษได้ จึงปรากฏคู่แข่งทางการเมืองของเหมาถูกกำจัดมากมาย
…แต่ถ้าพูดถึงสิ่งเก่า งิ้วนี่ก็เก่าอยู่นะ…
…ใช่แล้ว! การแสดงงิ้วเองก็ต้องโดนปฏิวัติด้วย!
การแสดงทั้งแปด : ความบันเทิงแห่งการปฏิวัติ
“เจียงชิง” ภรรยาของเหมาเจ๋อตงมีแบคกราวน์เป็นดาราเก่า เธอเคยถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะปฏิวัติรังเกียจที่เคยเป็นดารานี่แหละ (เพราะในทางหนึ่งดาราก็เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์เหมือนนายทุน) จึงถูกบังคับให้ทำตัวโลว์โปรไฟล์ยาวนาน ซึ่งเธอเก็บความแค้นมาตลอด
เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้น เหมาได้ใช้ให้เจียงชิงเป็นหัวเรือหลักในการนำกลุ่มเรดการ์ดเข้าทำลายพรรคพวกเก่าที่ไม่ไว้ใจ ซึ่งเธอก็ทำได้อย่างดีเพราะแค้นมานาน
นอกจากทำลายคนที่เหมาไม่ไว้ใจแล้ว เจียงชิงยังเข้ามามีอำนาจในวงการศิลปะด้วยความชอบส่วนตัว เธอเข้าควบคุมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอภาพยนตร์ สถานีวิทยุ ยุคนั้นสื่อทุกอย่างจะต้องถูกตรวจสอบและผ่านการพิจารณาจากเธอทั้งสิ้น
เจียงชิงพุ่งเป้าไปยังการควบคุมงิ้วแบบเก่า ตำหนิว่างิ้วมีเนื้อหาเชิดชูราชสำนักและเหล่าขุนนางอันเป็นวัฒนธรรมโบราณ จึงกดขี่ข่มเหงผู้เล่นงิ้วอย่างหนัก
เธอเซนเซอร์งานศิลปะทั้งหมดอย่างสุดโต่ง จนมีผู้กล่าวว่า “ตอนนั้นความบันเทิงอะไรก็ถูกมองเป็นความฟุ่มเฟือยของชนชั้นนายทุนไปหมด” และการ “ชอบดูงิ้ว” นั้นกลายเป็นความผิด ที่อาจทำให้ถูกพวกเรดการ์ดมาลงโทษได้
ขณะเดียวกันเจียงชิงได้เสนอรูปแบบการแสดงแบบใหม่มาแทนที่งิ้วโบราณ เรียกว่า “อุปรากรแห่งการปฏิวัติ”
อุปรากรแห่งการปฏิวัตินั้นผสมผสานศิลปะการเล่นงิ้วเข้ากับการแสดงตะวันตก มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติ การต่อสู้ระหว่างชนชั้น
คือแทนที่จะพูดถึงกษัตริย์ และขุนนาง อุปรากรแห่งการปฏิวัติจะมีเนื้อหาที่เชิดชูชนชั้นแรงงาน ชาวนา และทหาร นอกจากนั้นยังมักให้ตัวละครผู้หญิงเป็นตัวละครเด่น เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ …อุปรากรใหม่นี้มองโลกเป็นขาว/ดำ คือชาวนาและชนชั้นแรงงานทั้งหมดเป็นคนดี ส่วนชนชั้นนายทุนทั้งหมดเป็นคนเลว…
หลังจากปราบปราม “การแสดงแบบเก่า” อย่างหนัก เจียงชิงก็ได้เริ่มอนุมัติให้ทำการแสดงอุปรากร 8 เรื่อง
แปดเรื่องนี้มีการแสดงแบบใหม่ หรืองิ้วประยุกต์ 5 เรื่อง, บัลเลต์ (รับอิทธิพลจากโซเวียตรัสเซีย) 2 เรื่อง, และซิมโฟนี่ (การแสดงดนตรีล้วน) 1 เรื่อง
ได้แก่ :
1. ยุทธการจับเสือบนภูเขา (Taking Tiger Mountain by Strategy)
เรื่องราวของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) เดินทางเข้าไปยังภูเขาซึ่งเป็นถิ่นของกลุ่มผู้ร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อหลบเลี่ยงความเสียหายที่เกินความจำเป็นผู้บังคับหมวดของกองทัพ PLA ได้ทำการแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มโจรเพื่อหาทางปราบปรามกลุ่มโจรจนประสบความสำเร็จ
2. ตำนานตะเกียงแดง (The Legend of the Red Lantern)
เรื่องราวเกิดขึ้นในเขตแมนจูเรียที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในปี 1939 ในขณะนั้นเองสมาชิกกองกำลังใต้ดินคอมมิวนิสต์คนหนึ่งต้องการที่จะส่งรหัสลับให้กับกลุ่มของเขา ทว่าเขากลับถูกทหารญี่ปุ่นจับได้เสียก่อนเขาจึงมอบรหัสลับให้กับพนักงานบนรถไฟเพื่อสานภารกิจนี้ต่อ และต่อมาได้มีวีรสตรีชาวบ้านมาสานต่อการต่อสู้ของเขา
3. ชาเจียบัง (Shajiabang)
เรื่องราวเกิดขึ้นในตลาดเมืองชาเจียบัง มณฑลเจียงซูที่กำลังถูกกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตี ทำให้กลุ่มกองทัพปลดปล่อยประชาชน 18 นายที่กำลังพักฟื้นอยู่นั้นออกมาปกป้องเมืองจากทหารญี่ปุ่นโดยมีประชาชนคอยให้ความช่วยเหลือ
4. ณ ท่าเทียบเรือ (On the Docks)
เรื่องราวของคนงานท่าเรือในเซี่ยงไฮ้กำลังขนส่งกระสอบธัญพืชขึ้นเรือที่กำลังมุ่งหน้าไปยังแอฟริกาเป็นการช่วยเหลือในการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ทว่าเรื่องราวไม่ง่ายขนาดนั้นเมื่อกลุ่มฝ่ายตรงข้ามพยายามทำลายชื่อเสียงของจีนโดยการแอบผสมเส้นใยแก้ว (fiberglass) ลงไปในอาหาร
5. การโจมตีกองกำลังเสือขาว (Raid on the White Tiger Regiment)
เรื่องราวในช่วงสงครามเกาหลี ปี 1953 กองทัพอาสาสมัครประชาชน (PVA) ของจีนได้ทำการเข้าโจมตีกลุ่มทหารเสือขาวแห่งกองทหารราบยานยนต์ของเกาหลีใต้ที่กำลังวางแผนรุกรานเกาหลีเหนือ
6. บัลเลต์เรื่อง กองร้อยหญิงแดง (The Red Detachment of Women )
มีเจ้าของที่ดินผู้โหดร้ายขูดรีดคนในพื้นที่โดยเก็บค่าที่ดินในราคาแพง หากไม่มีเงินจ่ายจะต้องถูกจับมาขังในคุกใต้ดิน ขณะนั้นเองลูกสาวของชาวนาผู้ยากไร้ได้หนีออกมาจากคุกใต้ดินและเข้าร่วมกับกลุ่มทหารหญิงของกองทหารแดง ในเวลาต่อมาได้นำกำลังเข้าต่อสู้กับผู้ปกครองที่ดินอย่างกล้าหาญจนได้รับชัยชนะ
7. บัลเลต์เรื่อง หญิงผมขาว (The White-Haired Girl)
เรื่องราวของสาวชาวนาในมณฑลเหอเป่ยที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วแต่กลับถูกขายให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อล้างหนี้ให้กับครอบครัว เธอที่ไม่สามารถรับแรงกดดันได้ จึงหนีมาหลบซ่อนอยู่ในถ้ำบนภูเขาทำให้ไม่ค่อยได้รับแสงแดดเท่าที่ควร จนผิวและผมของเธอเปลี่ยนเป็นสีขาว อย่างไรก็ตามสุดท้ายเธอก็ได้พบกับคู่หมั้นอีกครั้งหลังจากที่เขาออกไปรบกับทหารญี่ปุ่น
8. ซิมโฟนีชาเจียบัง (Shajiabang the Symphony)

เป็นซิมโฟนีขับร้องนำโดยหลี่เต๋อหลุน (Li Delun) ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งดนตรีคลาสสิกของจีน บรรเลงเพลงโดย Central Orchestra ที่มีเนื้อหาจากละครชาเจียบัง
นอกจากแสดงบนเวทีแล้วเรื่องทั้งแปดนี้ยังถูกทำเป็นทั้งหนัง และละครวิทยุ
มี “หน่วยภาพยนต์เคลื่อนที่” ขับรถนำเอาภาพยนต์การแสดงทั้งแปดไปฉายตามชุมชนต่างๆ ชาวบ้านถูกเปิดเพลงจากละครเหล่านี้อัดใส่ตั้งแต่เช้ายันเย็นทุกวัน จนร้องกันที่บ้านได้เป็นเรื่องปกติ
ประชาชนทั่วแผ่นดินจีนยุคนั้นเสพกันแต่เรื่องทั้งแปด ถูกปลูกฝังให้มีแนวคิดสนับสนุนการปฏิวัติสังคมเท่านั้น …มันกลายเป็นความบันเทิงอย่างเดียว ที่ทุกคนถูกบังคับให้เสพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…
ในลักษณะนี้งิ้วในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป …แต่กลายเป็นอุปกรณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ที่หลอมรวมให้คนในชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน และทำลายความแตกต่างทางความคิดใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อถูกกำหนดกรอบ การสร้างสรรค์ผลงานในยุคนั้นก็ถูกจำกัดไปด้วยเช่นกัน ผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายถูกกดขี่ และต้องเก็บความขมขื่นอยู่ไม่น้อย…
เจียงชิงกลายเป็นพระแม่ผู้กำหนดศิลปะวัฒนธรรมให้ประชาชน
…และเหมาเจ๋อตงกลายเป็นพระเจ้า…
สิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรม
การปฏิวัติวัฒนธรรมนอกจากทำให้จีนสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมไปมาก ยังทำให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำ เพราะขาดบุคลากรที่จะมาสร้างสังคม …อย่างไรก็ตามทุกอย่างย่อมมีจุดสิ้นสุด
คือต่อมาเหมาแก่ตัวลงมาก เริ่มคุมความรุนแรงเรดการ์ดไม่อยู่จนเกรงว่าจะย้อนมาทำร้ายตนเอง จึงส่งพวกนักศึกษาเหล่านี้ไปใช้แรงงานในต่างจังหวัดร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ แล้วสั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้ามามีบทบาทแทน ทำให้จีนอยู่ภายในอิทธิพลทางการทหารอยู่พักใหญ่
ในที่สุดเมื่อเหมาเจ๋อตงเสียชีวิตในปี 1976 พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่อดทนมานานก็ร่วมกันปฏิวัติจับเจียงชิงและพรรคพวกมาขึ้นศาล แล้วยกสมาชิกพรรคสายปฏิรูปนามเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำแทน
…คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 500,000 - 2,000,000 คนจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (ตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนญี่ปุ่นบุกนานกิงคือราว 300,000 คน) อีกทั้งยังมีผู้ถูกจองจำหรือส่งไปใช้แรงงานอีกนับล้าน
ในศาลนั้นเจียงชิงได้ให้การด้วยประโยคที่มีชื่อเสียงว่า "ฉันเป็นสุนัขรับใช้ของท่านประธานเหมา ท่านประธานสั่งให้ฉันกัดใคร ฉันก็กัด!" เธอถูกตัดสินประหาร และต่อมาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เธออยู่อย่างความคับแค้นจนปี 1991 จึงผูกคอตาย
หลังการปฏิวัติวัฒนธรรม การแสดงงิ้วในรูปแบบดั้งเดิมถูกนำกลับมาฟื้นฟู เหล่าผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ถูกจำกัดผลงานในยุคก่อนได้รับอนุญาตให้ส่งต่อความรู้ดั้งเดิมอย่างอิสระขึ้น
ในเวลาต่อมาทางการจีนเปลี่ยนมุมมองกับงิ้ว มองว่างิ้วนั้นเป็นศิลปะของชาติที่ต้องรักษา ทำให้มีการสนับสนุนการแสดงงิ้วแบบดั้งเดิมให้เฉิดฉายอีกครั้ง
โดยลักษณะนี้งิ้วจึงถูกยกย่องและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้งิ้วเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยให้งิ้วคุนฉวี่ ในปี 2001 งิ้วกวางตุ้ง ในปี 2009 และ งิ้วปักกิ่ง ในปี 2010 ตามลำดับ
จะเห็นว่างิ้วหรืออุปรากรจีนนั้นผ่านพ้นสิ่งต่างๆ มากมาย อยู่คู่กับจีนมาตลอดทั้งช่วงเวลาดีและร้าย มีการแปรผันตามความนิยมของยุคสมัยอยู่เสมอ เป็นนาฏกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์นั่นเอง
เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง :
รู้จักสื่อบันเทิงของ ISIS ที่โปรดักชั่นทัดเทียมระดับโลก!
กระรอกกับเม่น : การ์ตูนสัตว์น้อยเลือดสาดจากเกาหลีเหนือ ที่ปลูกฝังให้เด็กเกลียดชังชาติศัตรู
ฮันดาลา : ตัวการ์ตูนจากผู้ลี้ภัย ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก
แหล่งอ้างอิง
https://www.historymuseum.ca/cantoneseopera/hist-e.shtml
https://www.thoughtco.com/history-of-chinese-opera-195127
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Revolutionary_opera#Revolutionary_operas_after_the_Cultural_Revolution
https://www.thatsmags.com/guangzhou/post/10286/the-eight-model-plays
https://factsanddetails.com/china/cat7/sub41/item1633.html