ทำไม “ซีรีส์วายจีน” ถึงสามารถขายได้ แม้รัฐบาลจีนจะสั่งห้าม ?

โดย
Surasak Tulathiphakul Surasak Tulathiphakul
เขียนเมื่อ 2 min read
ทำไม “ซีรีส์วายจีน” ถึงสามารถขายได้ แม้รัฐบาลจีนจะสั่งห้าม ?

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา วงการแฟนด้อมไทยเรา เริ่มมีกระแสความนิยมสื่อบันเทิงจากประเทศจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์หรือนวนิยาย ที่มีฉากหลังและตัวละครซึ่งอยู่ในประเทศจีน โดยเฉพาะสื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ หรือที่เรียกันติดปากว่า “นิยายวาย” กับ “ซีรีส์วาย” นั่นเอง

การที่มีสื่อแนวนี้เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร แต่ประเด็นมันอยู่ที่รัฐบาลจีนนั้นเป็นประเทศที่มีนโยบายการควบคุมสื่อเข้มข้นมาก โดยเฉพาะการแบนเนื้อหาแนวรักร่วมเพศ ถึงขนาดที่ว่าคนแต่งนิยายวายโดนจับเข้าคุกนานถึง 10 ปี เลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แฟน ๆ ชาวไทยก็ยังคงได้เห็นผลงานนิยายและซีรีส์ถูกส่งมาขายในบ้านเรากันอย่างถูกลิขสิทธิ์

วันนี้ The E World จะมาหาคำตอบกันว่า เพราะอะไร นิยายและซีรีส์วายของจีนถึงยังสามารถทำออกมาขายทั้งในและต่างประเทศได้ โดยไม่ถูกทางการจีนแบนไปซะก่อน


“วาย” คืออะไร

https://allabout-japan.com/th/article/10767/


ในวงการแฟนด้อม มักจะมีชื่อเรียกแนวของซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติดระหว่างเพศเดียวกันว่า “วาย” หรือใช้อักษรย่อว่า “Y” ซึ่งเป็นคำย่อมาจากชื่อเรียกประเภทในภาษาญี่ปุ่นอย่าง “Yaoi” และ “Yuri”

คำว่า “Yaoi” นั้นเป็นศัพท์ที่ถือกำเนิดในยุค 70’ ของญี่ปุ่น มาจากคำว่า Yamanasi (ไม่มีจุดพีค), Ochinashi (ไม่มีประเด็น), Iminashi (ไม่มีความหมาย) เกิดขึ้นมาจากนักเขียนโดจินชิ “ซาคาตะ ยาซุโกะ” และ “ฮัตสุ รินโกะ” ที่ต้องการเขียนงานล้อโคลงกลอนจีนยุคเก่า ด้วยความที่ “โดจินชิ” หรือมังงะทำมือโดยนักเขียนสมัครเล่น จะมีตั้งแต่การสร้างเรื่องราวและตัวละครขึ้นมาใหม่ ไปจนถึงการ “ล้อเลียน “ผลงานที่มีอยู่แล้ว โดยแนว Yaoi จะเน้นไปในเชิงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายด้วยกัน

แต่ถ้ามาในแนวรักใคร่แบบใส ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ก็จะจัดอยู่ในหมวด Shonenai ที่มาจากคำว่า Shonen (เด็กหนุ่ม) กับ Ai (ความรัก) โดยทั้ง Yaoi และ Shonenai ถูกจัดให้อยู่ในฐานะหมวดย่อยของ “BL” หรือ “Boy’s Love”

https://twitter.com/yuri_haru9/status/1054764315964653570

ส่วน “Yuri” จะคล้ายกับ “Yaoi” แทบทุกประการ แต่จะเปลี่ยนจาก “ชายกับชาย” เป็น “หญิงกับหญิง” ซึ่งจะมีความหมายครอบคลุมทั้งหมดที่เป็นความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ทั้งในเชิงมิตรภาพ, โรแมนติก หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ โดยคำว่า “Yuri นั้น มาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ดอกลิลลี่” มีที่มาจาก “Bongaku Itou” บรรณาธิการนิตยสารแนวรักร่วมเพศ ที่ใช้ดอกกุหลาบ (Bara) เป็นสัญลักษณ์ของแนว Boy’s Love ในขณะที่แนว Girls’ Love จะใช้เป็น ดอกลิลลี่ แม้ช่วงแรก ๆ ชาวหญิงรักหญิงในญี่ปุ่นจะไม่โอเคกับการใช้ดอกไม้เหล่านี้เป็นตัวแทน แต่ปัจจุบันมันก็กลายเป็นคำสามัญในเนื้อหาแนวนี้ไปแล้ว

ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการพูดถึงแนว “วาย” ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแนว “Yaoi” กันซะมากกว่า เพราะเป็นแนวที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงที่เป็นฐานผู้เสพที่ใหญ่ที่สุด


เมื่อวายจีน ตีตลาดไทย

https://www.youtube.com/watch?v=l74SxoKWgbs


ถ้าให้พูดถึงสื่อบันเทิงแนว “ชายรักชาย” จากประเทศจีนนั้นได้มีการออกมาตีตลาดไทยอยู่หลายเรื่อง โดยในช่วงปี 2016-2017 ถือว่าเป็นยุคแรก ๆ ที่นิยายและซีรีส์วายของจีนเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการเสพของนักอ่านไทย นอกเหนือจากนิยายวายไทยหรือ มังงะกับอนิเมะจากญี่ปุ่น

เริ่มจากซีรีส์เรื่อง “Addicted” ของปี 2016 ที่ดัดแปลงจากนิยายแนวชายรักชายชื่อดังของจีน ที่ทำยอดการชมถึง 10 ล้านครั้งตั้งแต่วันแรก และมีจำนวนผู้ชมเป็นอันดับสองของ “อ้ายฉีอี้” (iQiyi) เว็บไซต์วิดีโอออนไลน์ของจีน มาแรงชนิดที่ว่ามีการจัด Fan Meet นักแสดงในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงไทยด้วย

https://www.voicetv.co.th/read/SY4JgDUDW


ส่วนซีรีส์อีกเรื่องที่ถือว่าโด่งดังไม่แพ้กันคงหนีไม่พ้น “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” นวนิยายวายที่มีฉากหลังเป็นยุคโบราณ ผูกเข้ากับเรื่องราวของชาวยุทธ์ และสำนักต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก จนถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์คนแสดงจริง รวมไปถึงซีรีส์อนิเมะอีกด้วย

นอกจาก “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” แล้ว มันก็ยังมีอีกหลายเรื่องเลยทีเดียว ที่อยู่ในธีมแฟนตาซีกำลังภายใน อย่าง “ฮัสกี้หน้าโง่กับอาจารย์เหมียวขาวของเขา”, “ตัวร้ายอย่างข้า...จะหนีเอาตัวรอดยังไงดี” และ “สวรรค์ประทานพร” ที่จะเอนไปทางแฟนตาซีที่เกี่ยวข้องกับเซียนและเทพเจ้า ซึ่งทั้งหมดที่ว่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิยายและซีรีส์วายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก


แม่ ๆ เซย์ Yes แต่จีนเซย์ No

https://www.brookings.edu/interactives/chinas-new-top-government-leaders/


แม้เรื่องราวความสัมพันธ์แบบโรแมนติกระหว่างผู้ชายด้วยกันจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เสพทั้งในและนอกประเทศ แต่ในสายตาของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้น ถือเป็นเนื้อหาต้องห้าม และต้องถูกปิดกั้นอย่างเด็ดขาด แม้มันจะเป็นการส่งออก Soft Power สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศก็ตาม

ในประเทศจีนถือเป็นดินแดนที่มีนโยบายการควบคุมสื่อที่เข้มข้นมากที่สุดอีกแห่งของโลก ซึ่งแนวคิดการควบคุมเนื้อหานั้นมีขึ้นมาอย่างช้านานแล้ว โดยเริ่มมาจากพื้นฐานทางสังคมของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งยึดถือคติของ “ขงจื๊อ” ที่ยกความสำคัญของสถาบันครอบครัวเป็นที่หนึ่ง และคนในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นเก่า ซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมนั้นมองว่า เนื้อหาแนวรักร่วมเพศหรือการมีความหลากหลายทางเพศ อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของญาติผู้ใหญ่และครอบครัว


นั่นจึงเป็นที่มาของการออกข้อกำหนดควบคุมสื่อของประเทศจีน ที่มีความเข้มงวดกับเนื้อหาต่าง ๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ จากบทความของเว็บไซต์ “ผู้จัดการออนไลน์” ได้กล่าวถึง “ผู้บริหารของฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศจีน” (National Radio and Television Administration) ระบุว่าเนื้อหาต้องห้ามที่ทางการจีนสั่งห้ามนั้น จะมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์, สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน, เรื่องทางเพศ และวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม

จากหัวข้อเนื้อหาต้องห้ามทั้ง 4 ข้อนี้ นำมาสู่ 3 ประเด็นต้องห้ามที่ไม่อนุญาตเผยแพร่ทางทีวีของจีนดังต่อไปนี้

  1. 1. ส่งเสริมการกระทำผิดในเยาวชน - ว่าด้วยเรื่องของความมั่นคงภายในที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจะจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการยุยงให้เยาวชนกระทำการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ
  2. 2. เรื่องเหนือธรรมชาติและภูตผี - เรื่องนี้สืบเนื่องจากสมัยสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ยึดถือประเพณีเก่าแก่อย่างเหนียวแน่น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ที่นำโดย “เหมา เจ๋อตุง” มองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองล้าหลัง และสร้างความงมงายให้กับประชาชน ก่อนจะถูกปฏิวัติไปพร้อมกับธรรมเนียมอื่น ๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย
  3. 3. รักร่วมเพศ - เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมมาช้านาน จนถึงขั้นถูกจัดอยู่ในอาการป่วยทางจิตกันเลยทีเดียว แม้ว่าในปี 2001 จะไม่ถือว่าการรักร่วมเพศจะไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตอีกต่อไปแล้ว แต่มุมมองของคนรุ่นเก่าในประเทศก็ยังมองว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และขัดหูขัดตาอยู่ดี อีกทั้งรัฐบาลก็ยังคงสั่งห้ามเนื้อหาแนวนี้บนหน้าจอทีวีอยู่ เป็นเหตุให้บรรดาซีรีส์วายพากันหนีไปอยู่ในช่องทางออนไลน์แทน

อีกเหตุผลในการสั่งห้ามเนื้อหาแนวรักร่วมเพศนั้น “ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดทำงานวิจัยหัวข้อ “การบริโภคละครไทยในประเทศอาเซียน” ได้ให้ความเห็นว่ามันเป็นเรื่องของ “โครงสร้างทางสังคม” อิงจากอุดมการณ์สังคมนิยมที่ต้องผลิตประชากรเพื่อสนองและเติมเต็มอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการกำลังคนเพื่อเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การสั่งแบนและห้ามสื่อบันเทิงแนวรักร่วมเพศนั้นเรียกได้ว่าบังคับใช้กันแบบจริงจังมาก อย่างในปี 2018 “เทียนอี” นักเขียนนิยายแนวชายรักชาย ได้ถูกทางการจีนจับกุม พร้อมต้องโทษจำคุกเป็นเวลาถึง 10 ปี

https://www.distractify.com/p/america-chavez-parents


ในเมื่อสื่อที่ผลิตจากในประเทศจีนยังไม่รอด ของต่างประเทศคงไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องไหนมีตัวละครที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ ก็จะถูกสั่งห้ามฉายในประเทศจีนเช่นกัน อย่างภาพยนตร์  “จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย” (Doctor Strange 2 in the Multiverse of Madness) ก็ถูกสั่งห้าม เพราะ “อเมริกา ชาเวซ” หนึ่งในตัวละครของภาคนี้ มีครอบครัวที่เป็นผู้หญิงทั้งคู่ เพราะจักรวาลที่เธออยู่นั้นไม่มีผู้ชาย หรือจะเป็น “Call Me by Your Name” ที่มีเรื่องราวเชิงรักร่วมเพศด้วย ก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2018 โดยไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากผู้ที่สั่งห้ามแม้แต่น้อย

“เลี่ยงบาลี” เท่านั้น ถึงจะอยู่รอด

https://www.netflix.com/th/title/81364887


จากตัวอย่างความเคร่งครัดในการสั่งห้ามเนื้อหาแนวชายรักชาย และรักร่วมเพศในรูปแบบอื่น ๆ มาตรงนี้อาจทำให้หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่า “ในเมื่อจีนห้ามวาย แล้วทำไมซีรีส์กับอนิเมะจากนิยายวายถึงยังฉายและส่งออกได้?” ในประเด็นนี้ เราอาจต้องอธิบายถึงตัวนิยายวายที่เป็นผลงานต้นฉบับกันก่อน

ทางผู้เขียนได้ทำการติดต่อไปยังคุณ “อภิสรา สุดใจ” บรรณาธิการและ Content Specialist สาขานวนิยายจีน เพื่อสอบถามในประเด็นนี้ คุณอภิสราได้อธิบายถึงสาเหตุที่นิยายวายตัวต้นฉบับไม่โดนทางการจีนสั่งแบนไว้ว่า… โดยส่วนใหญ่แล้ว นิยายดัง ๆ ในจีนแทบทุกเรื่อง จะเป็นนิยายออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก เพราะมีหลายเรื่อง หลายแพลตฟอร์ม ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้หมด ส่วนเรื่องดัง ๆ ที่อยู่ในความสนใจ นักเขียนและแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ ก็จะช่วยกันเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ขัดกับนโยบายออก ให้เหลือแต่ฉากที่แสดงถึง “มิตรภาพลูกผู้ชาย” มากกว่า ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของแม่ยกเอาไปจินตนาการกันอีกที หรือที่บรรดาแฟนด้อมเรียกว่า “จิ้น” นั่นเอง

https://www.dailydot.com/unclick/epic-handshake-predator-meme/


ในบางครั้ง ตัวนักเขียนก็จะเลี่ยงไปใช้แพลตฟอร์มที่เป็นของดินแดนอื่น ที่อยู่นอกขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่แต่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก อย่างไต้หวันและฮ่องกง แต่ในบางกรณีที่ก้ำกึ่ง ก็จะมีนักกฎหมายคอยดูแลเรื่องนี้ให้ สมมุติผลงานเวอร์ชันที่จัดเต็มแบบถึงพริกถึงขิง ก็จะเอาไปขายที่ไต้หวันเพราะอำนาจกฎหมายไปไม่ถึง แต่ถ้าเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อไหร่ ก็จะเลือกเอาเวอร์ชันเด็กดีมาขายแทน

ทั้งนี้ นักเขียนเกือบทั้งหมดยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เพื่อให้ผลงานยังสามารถขายลิขสิทธิ์ได้แบบไม่ต้องกลัวว่าจะโดนกองเซ็นเซอร์

มาในฝั่งของซีรีส์ทางทีวีนั้น คุณ “อภิสรา” ได้เสริมอีกว่า ฉบับซีรีส์ที่ถูกสร้างและนำออกมาฉายนั้น จะเน้นเนื้อหาแนว ๆ ผจญภัย, ไขคดี, ท่องยุทธภพ และจะไม่มีฉากที่แสดงความรักของผู้ชายด้วยกันอย่างชัดเจน แต่ยังสามารถเหลือส่วนที่แม่ยกสามารถเอาไปจิ้นต่อได้

https://twitter.com/finalfrantasy/status/1146432798829535232


บางครั้งอาจจะมีการเพิ่มตัวละครใหม่ที่เป็นผู้หญิงเข้าไป ในฐานะเพื่อนร่วมก๊วน หรือตัวประกอบที่มีบทบาทสำคัญ หรืออาจจะเข้ามาเป็นตัวร้ายของเรื่องก็ได้ โดยตัวละครใหญิงเหล่านี้ก็มักจะวางบทให้มีความรู้สึกดี ๆ กับตัวละครเอกแบบชัดเจน อาจในรูปแบบเพื่อนหรือพี่น้องก็ได้ เพื่อลดองค์ประกอบความวายที่มีในต้นฉบับ แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พอ ก็จะเพิ่มคู่รองที่เป็นชายหญิงเข้าไปด้วยเลย จะได้จบ ๆ

นั่นทำให้ซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายวายในจีนนั้น จะถูกตีความใหม่ให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “มิตรภาพลูกผู้ชาย” แทน เพื่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กรองเนื้อหา หาเหตุผลมาเซ็นเซอร์ไม่ได้ และยอมให้ปล่อยฉายในที่สุด



ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือเหตุผลที่ ”นิยายวาย” จากประเทศที่ได้ชื่อว่าเข้มงวดกับการควบคุมเนื้อหาสื่อบันเทิงมากที่สุดอีกแห่งของโลก ยังสามารถส่งนิยายและซีรีส์วายออกมาให้แฟน ๆ ทั่วโลกได้ตามไปเสพได้อย่างทั่วถึง อาจเรียกได้ว่าการผลิตและเสพสื่อแนว Yaoi นั้นเหมือนกับธรรมชาติ เพราะยังไงมันก็สามารถหาหนทางให้กับตัวมันเองได้เสมอ


เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง :

Netflix ประกาศ The Glory ภาค 2 มหากาพย์การล้างแค้นจะกลับมาอีกครั้ง 10 มีนาคมนี้
“Noah Schnapp” ตัดสินใจเปิดตัวว่าเป็นเกย์ ครอบครัวและเพื่อนตอบเสียงเดียวกัน “เรารู้แล้ว”
ปลายยุค 90 ช่วงที่คำว่า "Go Hollywood" คือจุดสูงสุดของดารา-ผู้กำกับจีน-ฮ่องกง


แหล่งที่มา

ห้าม Y ห้ามฉายรักร่วมเพศ วัฒนธรรมการเสพซีรีส์ Y ในจีน ประเทศที่แบนเนื้อหาของเพศที่ 3 (thematter.co)

https://workpointtoday.com/ห้ามแรง-ห้ามผี-ห้ามรักร่/

เปิดมุมมองซีรีส์ Y ในประเทศจีน - Urban Creature

ธัญวลัย | นิยาย นวนิยาย นิยายออนไลน์ เขียนนิยายออนไลน์ (tunwalai.com)

Ten years' jail term for Chinese author of homoerotic novel sparks outcry | Reuters

Why is China banning Boys' Love (BL) and why should we care? - SOAS China Institute

China moves to kill romantic gay-themed ‘boys’ love’ dramas amid wider crackdown on entertainment industry | South China Morning Post (scmp.com)

China bans homosexuality, luxurious lifestyles from online videos | Financial Times (ft.com)

More from us

นักเขียน, Gamer และตากล้อง ชอบดื่มเบียร์ IPA และ Whisky... เคยหายไปเขียนเรื่องเหล้ามาหลายปี ในที่สุดก็ได้กลับเข้าวงการสักที..!!!!
รักหมารักแมวรักการเล่นเกม!