คอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ ผิดที่ “โป๊” หรือผิดที่เป็น “คอสเพลย์” ?

โดย
Surasak Tulathiphakul Surasak Tulathiphakul
เขียนเมื่อ 2 min read
คอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ ผิดที่ “โป๊” หรือผิดที่เป็น “คอสเพลย์” ?

“Cosplay Plus 2 - Newborn” งานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ ที่เปิดพื้นที่และเวทีสำหรับชาวคอสเพลย์ ในการแสดงผลงานแนว Sexy แต่หลังจากที่จัดขึ้นไปได้เพียงข้ามคืน ก็เกิดประเด็นที่มีเพจหนึ่งบน Facebook ขึ้นมาตามมาด้วยคอมเมนต์ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่นัก

ในฐานะที่ผู้เขียนเองคลุกคลีกับวงการคอสเพลย์มานาน เลยอยากจะชวนมานั่ง “คิด - วิเคราะห์ และแจกแจง” ถึงอีเวนต์ที่เรียกว่า “งานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่” กันว่า มันคือกิจกรรมฉาว ๆ หรือเป็นเวทีการแสดงออกใหม่สำหรับคนที่มีรสนิยมแตกต่าง? แล้วเรื่องนี้...

“มันผิดที่ ‘อนาจาร’ หรือเพราะว่าเป็น ‘คอสเพลย์’ กันแน่?”


ดราม่าฉาว ๆ หลังงานคอสเพลย์ (สำหรับผู้ใหญ่)

เหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับงานคอสเพลย์ ที่จบงานทีไร ต้องมีดราม่าตามมาตลอด แม้จะเป็นงานที่มีแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ไปกันอย่าง “Cosplay Plus 2 - Newborn” งานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ ที่จัดโดย “Mr. Fox Thailand” เป็นอีเวนต์เฉพาะที่ให้นักคอสเพลย์สาย Sexy นำผลงานมาจัดแสดง และพบปะแฟน ๆ ที่ชื่นชอบในผลงาน ซึ่งมีตั้งแต่ระดับเบา ๆ ไปจนถึงสายแข็งที่เจาะตลาด Fetish (ความชอบเฉพาะทาง) ต่าง ๆ เช่น S&M เป็นต้น

กิจกรรมครั้งนี้ก็จบลงได้ด้วยดี (บางคนอาจไม่ เพราะปาร์ตี้หนักไปหน่อย) แต่ผ่านไปได้เพียงคืนเดียว ก็มีเพจหนึ่งบน Facebook เจ้าหนึ่ง นำภาพจากในงานครั้งนี้มาโพสต์ในเพจ (ซึ่งแน่นอนว่าเซฟมาจากต้นทางอีกที) พร้อมข้อความบอกให้ไปดูว่ามีลูกหลานใครไปบ้าง และเปิดโอกาสให้ลูกเพจเข้ามาแสดงความเห็น โดยส่วนใหญ่จะออกไปในเชิงลบ เช่น

“งานรวมตัวเหล่าบุคคลผู้ซึ่งชื่นชอบการอนาจาร”
“ตอกสดๆแน่คัฟงานนี้”
“จะอ้วก”
“พี่ชัยทองน่าจะชอบนะ งานแปลกๆแบบนี้”

ในขณะเดียวกัน คนจากวงการคอสเพลย์ และผู้ที่ไปร่วมงานครั้งนี้ ก็เข้ามาแสดงความไม่พอใจ โดยบอกว่างาน Cosplay Plus ที่จัดนี้ มีการตรวจบัตร, เก็บค่าเข้า, จัดในที่ปิด, ไม่มีการอนาจารอย่างที่ถูกกล่าวหา และไม่ขัดกับกฎหมาย พร้อมสวนกลับว่าตัวแอดมินนี่แหละจะเป็นคนโดนเอง เพราะไปสูบรูปจากแหล่งอื่นมาโดยไม่ได้รับความยินยอม

“งานคอส18+ มีเช็คอายุ/เกณท์/เก็บค่าเข้าก่อนเข้างาน ใครบ้าจี้พาบุตรหลานเข้าก็นะ”
“งานปิดที่มีค่าเข้า มีค่าบัตร มีจำกัดอายุ นะคะ ละที่ลงรูปนี้ขอเจ้าของเขารึยัง? โดนฟ้องได้น้า”
“งานมีตรวจบัตร มีการ์ด สถาที่ได้รับอนุญาต กำลังงงว่าผิดตรงไหน หรืออิ **สงวนชื่อเพจ** มันไม่รู้ไรเลย น่าอายอยู่นะ”
“โดนฟ้องมาไม่รู้เรื่องเด้อ”

เมื่อมีคนเข้ามาเตือนว่าให้ระวังการฟ้องร้อง ทางแอดมินก็ท้าทายว่า “ฟ้องพ่อฟ้องแม่เหรอครับ” และยังคงนำเสนอเรื่องราวของงาน “Cosplay Plus” ต่อไป โดยอ้างว่าแค่เอาเรื่องราวจากวงการคอสเพลย์มาแชร์กัน ในขณะที่อีกฝั่งมองว่าแอดมินแค่หิวแสง ต้องการเรียกร้องความสนใจและเพิ่มยอด Like และ Share ให้กับเพจของตัวเอง

อีกด้านหนึ่ง ก็มีคนในวงการคอสเพลย์ออกมาตั้งคำถามถึงความย้อนแย้งของชาวเน็ตไทย ที่มีปัญหากับทุกอย่างในวงการคอสเพลย์ว่า…

“ดราม่างานคอสอ่ะนะ งานธรรมดาแต่งคอสตัวละครโป๊มา แกก็ด่าเขา
พอเขาโป๊ไปงานคอส 18+ แกก็แคปออกมาด่าเขา
#พวกแกเป็นคนยังไงกันวะ”

นอกจากนี้ มีผู้ร่วมงานรายหนึ่งที่ถูกดูดภาพแล้วคลิปไปลงในโพสต์ของดังกล่าว เลือกที่จะ “ช่างหัวแม่ง” แทน เพราะไม่ได้ซีเรียสอะไร ตรงจุดนี้น่าจะทำให้เห็นความต่างในการวางตัวได้ชัดเจนเลยทีเดียว

“ไม่ต้องไปตอบโต้อะไรนะครัช อยู่เฉยๆ นั่งเล่นเกม กินขนมไปนะเด็กๆ”

ส่วนความเห็นชาวเน็ตที่ออกไปในทางไม่ดีนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่ผู้ชมแบบเรา ๆ จะทำอะไรได้… ก็ขึ้นชื่อว่า “ชาวเน็ต” นั่นแหละนะ…

สิ่งที่น่าสนใจในดราม่าที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ… “วงการคอสเพลย์มาถึงจุดที่มีงานสำหรับสาย Sexy ได้อย่างไร?” และ “มันอนาจารอย่างที่ชาวเน็ตพูดจริงรึเปล่า?”

กว่าจะมาเป็น “งานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่”

ที่มาภาพ : https://qz.com/1332228/san-diegos-comic-con-has-nothing-on-tokyos-comic-market

วงการคอสเพลย์ไทยปัจจุบันนี้ คงบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า “มีพื้นที่การแสดงออกเยอะมาก” ไม่ว่าจะด้วยชุมชนคอสเพลย์ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกปี ๆ และการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ในฐานะกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และศิลปะรูปแบบหนึ่ง ซึ่งดูได้จากมีหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ เริ่มหันมาจัดงานและการประกวดคอสเพลย์ของตัวเอง อย่างแบรนด์ขนมปัง “Farm House” ก็จัดกิจกรรม “Farm House Cosplay ” ในงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” หลังจากที่ต้องฝ่าฟันจากการถูกครหาจากผู้ใหญ่ในอดีต ไม่ว่าจะเรื่องของการใช้เงินจำนวนมาก เพื่อที่จะแต่งเลียนแบบตัวละครตัวหนึ่ง และถูกมองว่าเป็นการใช้เวลาอย่างไม่มีประโยชน์

แต่ในเมื่อวงการคอสเพลย์เข้ามาอยู่ในขั้น “ได้รับการยอมรับ” ในสังคมไทยแล้ว จุดต่อไปก็คือการ “เติบโต” ของวงการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะการขยายตัวของชุมชนคอสเพลย์ จากที่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพก็ขยายไปต่างจังหวัด ไปจนถึงแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้าน… และการเติบโตอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “โตขึ้นตามวัย” หรือให้พูดอีกแบบก็คือ “มีความเป็นผู้ใหญ่” ที่จะเพิ่มความ Sexy เข้ามามากขึ้น และไม่ได้จำกัดไว้แต่กิจกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่นอีกต่อไป

ประกอบกับความที่มังงะ, อนิเมะ และวิดีโอเกมในยุคหลัง ๆ เริ่มไม่ได้จ้องจะจับกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็กอีกต่อไป ก็เริ่มมีการออกแบบตัวละครให้มีความ Sexy และสวมเครื่องแต่งกายโชว์ทรวดทรงมากขึ้น เลยทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ชมมากกว่าตัวละครแบบอื่น ๆ ไปจนถึงมีนักคอสเพลย์สนใจจับกระแส หยิบตัวละครเหล่านี้มาแต่งคอสเพลย์มากขึ้น

ในขณะที่ไทยเรามีพื้นที่ให้กับนักคอสเพลย์มากขึ้น แต่ยังก็ยังไม่ตอบโจทย์นักคอสเพลย์สาย Sexy มากเท่าไหร่ เพราะด้วยสถานที่สำหรับจัดงานคอสเพลย์ มักจะจัดกันตามที่สาธารณะ, ในศูนย์การค้า หรือบางครั้งอาจจะเป็นที่ของราชการ และสถานศึกษา

เพราะเมื่อมีใครเห็นคนแต่งคอสเพลย์นุ่งน้อยห่มน้อยตามงานเหล่านี้ บอกได้เลยว่ามีดราม่าตามมาแน่นอน หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของความไม่เหมาะสม เพราะบางงานจัดในที่เปิด และมีเด็ก ๆ มาเดินเที่ยวด้วย ถ้าเป็นสถานศึกษาหรือสถานที่ราชการ ก็จะเป็นเรื่องของกาลเทศะและการเคารพสถานที่ บางครั้งก็อาจจะมองว่าเป็นการอนาจารในที่สาธารณะได้

อีกทั้งมุมมองของผู้ใหญ่ต่อการคอสเพลย์ที่ยังคงถูกมองเป็นกิจกรรมสำหรับเด็กอยู่ เลยทำให้ของวงการคอสเพลย์ และงานที่จัดขึ้น ณ ตรงนั้น อยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงที่จะถูก “Cancel” หรือถูกแบน และเสียความเชื่อมั่นจากภาพลักษณ์แง่ลบที่ถูกสื่อออกมาในโลกออนไลน์

แต่ด้วยจำนวนนักคอสเพลย์ที่หันมาเข้าสู่สาย Sexy ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับพื้นที่ ที่นอกจากจะไม่ขยายตามแล้ว ยังมีน้อยลงไปอีกเพราะถูกจับตามองจากดราม่าลักษณะนี้ซึ่งมีออกมาหลายครั้ง ทำให้ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเผยแพร่ผลงานแนวนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Gumroad, Onlyfans หรือ Gank รวมทั้งบัญชี Twitter แบบส่วนตัว (แอคล็อก) ที่จะต้องจ่ายเงินก่อนถึงจะเข้าไปดูเนื้อหาในนั้นได้

ในเมื่อชุมชนของนักคอสเพลย์สาย Sexy ขยายตัวมากขึ้น และพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตมันไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เลยทำให้มีคนบางกลุ่มริเริ่มการจัดงานคอสเพลย์ธีม Sexy ขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับคนที่ชื่นชอบงานคอสเพลย์แนวนี้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์แนวนี้ และผู้ที่เสพผลงาน ได้พบปะและแลกเปลี่ยน รวมถึงหา Connection ใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะการร่วมสร้างผลงานระหว่างนักคอสเพลย์ด้วยกัน หรือบริการต่าง ๆ ในสายการผลิต เช่นช่างภาพหรือโรงพิมพ์

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/keepintouchcosplayparty

โดยงานคอสเพลย์สำหรับสาย Sexy เจ้าแรกที่จัดในไทยนั้น คือ “Keep In Touch : Cosplay Party” จัดขึ้นในรูปแบบ Private Party ที่รายได้จากการขายบัตรจะถูกนำไปบริจาคเพื่อการกุศลต่อไป และยังถือเป็นงานแรก ๆ ที่ใช้ราคาบัตรที่สูงถึงหลักพันและมีจำนวนจำกัด ในการคัดคนเข้างาน… แต่ถ้ามาในรูปแบบอีเวนต์คอสเพลย์เต็มตัว ก็คงต้องเป็นงาน “Cosmaniac” ที่เหมือนกับงานคอสเพลย์แบบทั่วไปแทบทุกประการ เว้นแต่ธีมการแต่งคอสเพลย์และผลงานที่นักคอสเพลย์นำมาขาย จะเป็นแนว Sexy ทั้งหมด

จนมาถึงงานล่าสุดที่มีประเด็นอย่าง “Cosplay Plus” ที่ผสมความเป็นปาร์ตี้และงานคอสเพลย์เข้าไว้ด้วยกัน โดยในงานจะมีทั้งการจัดจำหน่ายสินค้าของนักคอสเพลย์, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, คอนเสิร์ตขนาดเล็ก และการแสดงต่าง ๆ จากนักคอสเพลย์โดยตรง

อนาจารจริงอย่างที่คิดมั้ย?

COSPIE งานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ของได้หวัน งานของปี 2023 มีนักคอสเพลย์ไทยถูกเชิญไปร่วมงานด้วย / ที่มาภาพ https://youtu.be/k81bN4Fy7bg
กลับมาเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้น มาถึงตรงนี้ก็มีคนเริ่มตั้งคำถามขึ้นมากันแล้วว่า “มันจะเข้าข่ายอนาจารหรือไม่?” เพราะเมื่อดูจากการแต่งตัว, การแสดงบนเวที, สินค้าและบริการของนักคอสเพลย์ ไปจนถึงรูปที่ถ่ายในงานมันแรงมาก และเกิดข้อสงสัยว่ามากันขนาดนี้ มันมีเรื่องฉาว ๆ ขัดต่อ “ศีลธรรมอันดี” ของประเทศสุดคัลท์แถว ๆ ด้วยหรือไม่?

ถ้าให้ตอบแบบง่าย ๆ ตามประสาคนวงในของผู้เขียนเองเลยก็… “บ้า… แกอ่ะคิดมาก!” คือมันไม่ถึงขนาดนั้นเลย! เพราะแม้รูปแบบของงานจะอนุญาตให้คอสเพลย์แนว Sexy ซึ่งเปิดเผยสัดส่วนและร่างกาย ในระดับที่ถ้าใส่ไปเดินแถวสยามคือโดนตำรวจเชิญไปสนทนาธรรมที่โรงพักแน่นอน แต่งานพวกนี้มันก็ยังมีขอบเขตกำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่นการห้ามเปิดเผยจุดสำคัญหรือของสงวน รวมไปถึงห้ามมีใช้ข้อความเพื่อเชิญชวนให้มีเซ็กส์ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางเพศในทางปฏิบัติด้วย

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/photo/?fbid=507546404340645&set=a.350322953396325&locale=ms_MY

อีกทั้งสินค้าและกิจกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังไม่ถึงขั้น Hardcore แบบที่หลาย ๆ คนได้เห็นในเว็บ “ส้ม-ดำ” เพราะตัวงานก็กำขับไว้อีกชั้นว่า “งานที่ขายก็ต้องปิดจุดสำคัญไว้ด้วย” ส่วนในฝั่งของเซอร์วิสของตัวนักคอสเพลย์ แม้จะถึงเนื้อถึงตัว แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่ทางงานกำหนดไว้อยู่เหมือนกัน และเซอร์วิสที่ว่านี้ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ”ความยินยอม” (Consent) ทั้งสิ้น

สิ่งที่สังเกตได้อีกประการคือ… ถ้างานคอสเพลย์ทั่วไปมักมีดราม่าตามมาแทบจะทุกครั้ง เช่นการไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากทีมงาน, การเล่นพิเรนทร์จากผู้เข้าร่วมงาน และการล่วงละเมิดทางเพศ ที่วันดีคืนดีก็มีขึ้นมาให้ “ใส่ใจ” ถึงหน้าฟีด… แต่สำหรับงานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่ อย่าง “Keep In Touch : Cosplay Party” หรือ “Cosplay Plus” นั้น แทบไม่มีเรื่องดราม่าจากในงานตามมาเลย

นั่นเป็นเพราะการตั้งราคาตั๋วเข้างานที่แพงกว่างานคอสเพลย์ทั่วไป และจำกัดอายุผู้ร่วมงานให้ต้องมีอายุ 18 หรือ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น มันเลยกลายเป็นกลไกคัดคนเข้างานไปในตัว ซึ่งนอกจากจะจำกัดวงให้เหลือแค่คนที่สนใจจริง ๆ เท่านั้นแล้ว ยังทำให้มั่นใจได้ว่าคนที่จะผ่านประตูงานไปนั้น ต้องมีวุฒิภาวะ, ความสามารถในการรับผิดชอบตัวเอง และเข้าใจหลักการที่เรียกว่า ”ความยินยอม” หรือให้พูดง่าย ๆ คือ “โต ๆ แล้ว ควรจะรู้ว่าอะไรผิดหรือถูก” ทำให้ดราม่าการลวนลามใด ๆ นั้น ไม่มีหลุดมาจากงานนี้สักเท่าไหร่… หรือถ้าให้ดูจากมุมของผู้เขียนเองคือมันไม่เคยหลุดมาเข้าหูเลย

นอกจากนี้มียังมีอีกโพสต์หนึ่งจากเพจเดียวกัน ที่กล่าวถึงเมนูเซอร์วิสของผู้ที่ไปออกบูธเจ้าหนึ่ง โดยเรียกเซอร์วิสบางข้อนั้นว่า “กามวิปริต” (ล่าสุดลบออกไปแล้ว ขออภัยที่แคปฯ ไม่ทัน) ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถตีความนิยามของ “กามวิปริต” ได้อย่างตายตัว เพราะความชื่นชอบหรือ “เฟติช” (Fetish) นั้นเป็นเรื่องปัจเจก และซึ่งบางอย่างอาจถูกกีดกันด้วยแนวคิดที่แตกต่าง เช่นการชอบถูกฟาด หรือถูกเหยียบเป็นต้น แต่เฟติชบางอย่างนั้นก็มีการตีความแล้วว่าเป็นขัดต่อกฎหมายจริง ๆ เช่นการทำกับสัตว์, ผู้เยาว์ หรือการข่มขืน เป็นต้น

สิ่งที่น่าคิดก็คือ… การที่มีใครสักคนบอกว่า ชอบรักแร้, ชอบโดนฟาด หรือรสนิยมส่วนบุคคลต่าง ๆ เหมาเป็นกามวิปริตทั้งหมด มันต่างอะไรกับ “ชาวเน็ต” ที่เหยียดกระบวนท่า “บั้นเด้า” หน้าฮ่านหรือรถแห่ของคนไทบ้านกัน?

มอง “งานคอสฯ สำหรับผู้ใหญ่” ในมุมกฎหมาย

สำหรับคำถามสำคัญอย่าง “งานแบบนี้มันผิดกฎหมายหรือไม่?” เนื่องจากมีการแต่งตัวน้อยชิ้น มีกิจกรรมถึงเนื้อถึงตัว และขายสินค้าจากคอสเพลย์เยอร์ที่ออกไปในแนวยั่วยวน… นั่นเลยทำให้ผู้เขียน ได้ติดต่อเพื่อขอความเห็นไปยัง “ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง” เกี่ยวกับงานคอสเพลย์แนวผู้ใหญ่นั้น มันจะมีปัญหาอะไรในมุมของกฎหมายหรือไม่?

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้ให้ความเห็นมาว่า งานอีเวนต์ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะงานคอสเพลย์ที่เป็นประเด็นนี้ ถ้าทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้ ก็จะไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย

1. จัดในในพื้นที่ที่มีการจำกัดไว้ (ที่ปิด, ที่ส่วนบุคคล)
2. ตรวจบัตรประชาชน มีค่าเข้า
3. ไม่มีการจำหน่าย หรือใช้สารเสพติดให้โทษ
4. การแต่งกายบังคับปิดสามจุดสำคัญ (หน้าอก, อวัยวะเพศ, ทวารหนัก)
5. รูปและสินค้าที่ขาย ก็ต้องปิดสามจุดสำคัญด้วย
6. สินค้าและบริการต้องไม่ไปในทางร่วมประเวณี เช่นดูของวสงวนหรือใช้ปาก แต่ถ้านั่งตักหรือหอมแก้มแบบในเลานจ์ยังทำได้ (แต่ต้องมีการยินยอม)
7. การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีใบอนุญาตในนามนิติบุคคล
8. การจัดอีเวนต์เองก็ต้องทำในนามนิติบุคคล

แต่ในส่วนที่ดูจะมีปัญหาสุด นั่นก็คือการที่เพจของผู้จัดงานนำภาพในกิจกรรมมาโพสต์ลงบนเพจ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้บุคคลนอกวงการ และคนที่ยังไม่เข้าใจบริบทของงานจริง ๆ คิดว่าเป็นกิจกรรมที่เสื่อมเสียได้ ซึ่งนี่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจขนาดนั้น ด้วยสภาพสังคมที่มีนิยามของจารีตกับศีลธรรมอันดีที่คลุมเครือและย้อนแย้งนี้ น่าจะยังไม่สามารถเปิดรับอะไรที่แตกต่างกันง่าย ๆ และต่อให้พูดเป็นร้อย ๆ ปาก ก็อาจจะเป็นอะไรที่สิ้นเปลืองพลังงาน ถ้าคนเหล่านี้ไม่ได้คิดจะเปิดรับแต่แรก

และเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากจะให้ลองถามคำถามกับตัวเองอีกครั้ง ว่างานคอสเพลย์สำหรับผู้ใหญ่… “มันผิดที่ ‘อนาจาร’ หรือเพราะว่าเป็น ‘คอสเพลย์’ กันแน่?”


ในจุดนี้เราต้องยอมรับกันก่อนว่า กิจกรรมและงานอดิเรกต่าง ๆ นั้น ล้วนมีการเติบโตได้ในหลาย ๆ ความหมาย บ้างก็อาจจะต่อยอดไปในระดับที่ใหญ่และแพร่หลายขึ้น และบางอย่างเองก็สามารถแตกหน่อไปในแนวทางที่เฉพาะเจาะจงด้วยเหมือนกัน… ดังนั้น การที่จะมีกิจกรรมบางอย่างที่จัดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่ก็ถือเป็นเรื่องต้องมีอยู่อย่างแน่นอนอยู่แล้ว และเราก็ไม่มีทางจำกัดหลาย ๆ อย่างให้เป็นของสำหรับเด็กไปได้ตลอดกาล


เนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง

ชาว Cosplay ถกกันทั้งวงการ เรื่องความเหมาะสม กับการแต่งคอส "โอตะสตอล์เกอร์" จากอนิเมะ "Oshi no Ko"
https://the-e-world.com/rolandsama-cosplay-by-thai-cosplayer/

แหล่งที่มา

https://www.facebook.com/groups/248147652452201/
https://th.wikipedia.org/wiki/โรคกามวิปริต

More from us

นักเขียน, Gamer และตากล้อง ชอบดื่มเบียร์ IPA และ Whisky... เคยหายไปเขียนเรื่องเหล้ามาหลายปี ในที่สุดก็ได้กลับเข้าวงการสักที..!!!!
รักหมารักแมวรักการเล่นเกม!