
ในการถ่ายรูปนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้แน่นอนอยู่แล้วก็คือ “กล้องถ่ายรูป” และในวงการนี้มีกล้องอยู่หลากหลายชนิดให้เลือกใช้กัน และกล้องแต่ละตัวนั้น มันถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป
และบางครั้ง ก็อาจจะมีความคิด หรือคำยุยงจากเพื่อน ๆ ในวงการเดียวกันว่า “ไปกล้อง Full Frame เลย” ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพรูปถ่ายจากเซนเซอร์ Full Frame มันทำออกมาได้ดีจริง ๆ แต่มันก็มีคำถามตามมาว่า “จำเป็นมั้ย ที่จะต้องขยับไปเล่นกล้อง Full Frame”
ดังนั้นเพื่อช่วยให้หลาย ๆ คน โดยเฉพาะตากล้องมือใหม่ หรือเริ่มมองหากล้องตัวถัดไปตัดสินใจได้ง่ายขึ้น นี่คือ 4 คำถามที่จะช่วยให้คุณรู้ว่า คุณควรซื้อกล้อง Full Frame หรือไม่?
Full Frame คืออะไร?
กล้อง Full Frame (ฟูลเฟรม) คือกล้องถ่ายรูปที่มีขนาดเซนเซอร์ เท่ากับขนาดฟิล์ม 35 มม. (24x36 มม.) ในกล้องฟิล์มสมัยก่อน โดยเซนเซอร์ขนาด Full Frame นั้นจะถูกยึดให้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้เปรียบเทียบกับเซนซอร์ขนาดอื่น ๆ เช่น APS-C หรือกล้องตัวคูณ จะมีขนาดเล็กกว่า Full Frame 1.52 เท่า, เซนเซอร์ Micro 4/3 จะมีขนาดเล็กกว่า Full Frame 2 เท่า และกล้อง Medium Format นั้น จะใหญ่กว่า Full Frame 0.64 เท่า
โดยเซนเซอร์ Full Frame นั้นจะพบได้ในกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพซะส่วนใหญ่ ทั้ง DSLR และ Mirrorless ที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ และยังสามารถพบได้ในกล้อง Compact ระดับมืออาชีพ ที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้อีกด้วย
ข้อดีของ Full Frame ก็คือมีเซนเซอร์ขนาดใหญ่ ทำให้มีพื้นที่ในการรับรายละเอียดภาพที่สูงกว่ากล้องระดับอื่น ๆ ที่มีเซนเซอร์ขนาดเล็กกว่าโดยไม่เกี่ยงความละเอียดของตัวเซนเซอร์ นอกจากนี้มันสามารถเก็บภาพในที่แสงน้อยได้ดี, มีตัวเลือกเลนส์มากมาย และทำระยะชัดตื้นได้ดีกว่า ช่วยให้วัตถุและตัวแบบมีความโดดเด่นมากขึ้น นั่นทำให้กล้อง Full Frame ได้รับความนิยมในกลุ่มตากล้องมืออาชีพเป็นพิเศษ
แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า หนักกว่า พร้อมราคาที่สูงขึ้น และถ้าเดิมทีใช้กล้อง APS-C มาก่อน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเลนส์ยกชุดไปเลย เว้นแต่จะใช้กล้องที่เป็น E-Mount ของ Sony มาตั้งแต่แรก เพราะมันใช้ระบบเดียวกันได้
การซื้อกล้อง Full Frame อาจจะดูเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาว เพราะคุณภาพของรูปถ่ายที่สูง เหมาะกับการนำรูปไปใช้งานต่าง ๆ แต่คำถามคือ… การมีกล้อง Full Frame นั้นจำเป็นหรือไม่ และมันคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปขนาดไหน นี่จึงเป็นที่มาของคำถามทั้งหมด 4 ข้อ ที่จะทำให้คุณสามารถพิจารณาได้ว่า “คุณควรถอยกล้อง Full Frame หรือไม่?”
1. มีงบเยอะมั้ย?
งบประมาณ ถือเป็นโจทย์สำคัญอันดับ 1 สำหรับการซื้อกล้องสักตัวเพราะกล้องตัวนึงบอกเลยว่าไม่ใช่ถูก ๆ แค่กล้อง APS-C ระดับ Entry (ระดับเริ่มต้น) ก็ปาไปหลักหมื่นขึ้นไปแล้ว ถ้าตัวไหนตกรุ่นก็อาจจะอยู่ 7-8 พัน ดังนั้นถ้าเป็น Full Frame ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าลอยคอกันอยู่ที่ 5 หมื่นขึ้นไป แบบโหด ๆ ก็หลักแสนแน่นอน ถึงแม้ว่ามันจะมีกล้อง Full Frame ระดับ Entry ที่ราคาถูกมาก แต่คุณภาพและประสิทธิภาพก็ตามราคา อย่าไปคาดหวังอะไรเยอะ
ดังนั้น ก่อนจะซื้อกล้องตัวไหนสักตัว เราอาจจะต้องถามกระเป๋าตังค์ของเรากันก่อนว่าไปไหวรึเปล่า และถ้าใช้วิธีผ่อนจะเป็นภาระหรือไม่ เพราะอย่างกล่าวไปข้างต้นนั้น กล้องถ่ายรูปมันไม่ใช่ของถูก ๆ แต่ถ้ามั่นใจว่าวางแผนทางการเงินมาอย่างดี หรือไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหลังซื้อมันไป เราก็สามารถไปต่อกันในคำถามที่ 2 ได้เลย
2. ใช้ถ่ายอะไร?
คำถามยอดฮิตอันดับสอง ที่เซียนกล้องและพนักงานร้านกล้องจะถามคุณ เมื่อคุณบอกว่าจะมาซื้อกล้อง เพราะโดยทั่วไปแล้ว คนคนหนึ่งจะถ่ายรูปกันอยู่ไม่กี่แนว หรืออาจจะหลาย ๆ แนวแล้วแต่ความถนัด ตั้งแต่สินค้า, อาหาร, กีฬา, ข่าว, งานแต่ง ไปจนถึงภาพบุคคล เช่น แฟชั่น, พอตเทรต และคอสเพลย์ ถ้าเอากันตามจริงแล้วจะกล้อง APS-C, Micro 4/3 หรือ Full Frame ก็ถ่ายได้เหมือนกันหมด แต่คุณภาพไฟล์และมิติจะต่างกัน
ถึงแม้ Full Frame จะเป็นชนิดกล้องที่ถูกยึดเป็นมาตรฐาน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้หมดทุกอย่าง เช่นการถ่ายคอนเสิร์ตตามงานเปิด หรือถ่ายนก กล้อง Full Frame ก็อาจจะให้มุมภาพที่กว้างและไกลเกินไป ในขณะที่ APS-C จะได้เปรียบกว่า เพราะตัวเซนเซอร์ถูกครอบเข้าไป 1.6 เท่า แม้จะใช้เลนส์ในระยะที่เท่ากัน แต่ภาพที่ได้ก็จะเข้าไปใกล้วัตถุมากกว่า อีกทั้งกล้องและเลนส์สำหรับ APS-C กับ Micro 4/3 มีราคาเริ่มต้นที่ถูกกว่า และยังมีน้ำหนักเบากว่ากล้อง Full Frame อีกด้วย เว้นแต่ว่าจะห้าวเป้งไปเล่นของตัวเกรดโปรกัน
หรือถ้าเป็นงานวิดีโอ แม้โปรดักชั่นส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้กล้อง Full Frame เพื่อเก็บรายละเอียด แต่ถ้าในเรื่องมิติภาพ Micro 4/3 บางรุ่นอาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า
แต่ถ้าเน้นถ่ายสินค้าเพื่อนำไปตัดต่อทำโฆษณา หรือถ่ายภาพบุคคลแนวแฟชั่น, พอตเทรต และคอสเพลย์ ที่ต้องการเก็บรายละเอียดดี ๆ เรื่องนี้อาจจะต้องยกให้กล้อง Full Frame ชนะเลิศไป แต่ในขณะเดียวกัน กล้องที่มีเซนเซอร์ขนาดเล็กกว่า และมีราคาถูกกว่า ก็เพียงพอต่อการใช้งานในลักษณะนี้เแล้ว แต่อาจจะได้รายละเอียดและมิติภาพไม่เท่ากับ Full Frame ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคเฉพาะตัวที่จะชดเชยส่วนที่ขาดไป
3. จริงจังแค่ไหน?
ด้วยความที่กล้องถ่ายรูปมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ Entry (เริ่มต้น) สำหรับมือใหม่และคนที่เริ่มสนใจการถ่ายรูป, Semi Pro (กึ่งมืออาชีพ) ที่จะมีฟีเจอร์มากขึ้น เหมาะสำหรับคนที่จริงจังกับการถ่ายรูปขึ้นมาหน่อย และ Pro (มืออาชีพ) ที่แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าหากินกับการถ่ายรูปจริง ๆ และคนที่ใช้งานแบบฮาร์ดคอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ กล้อง Full Frame จะอยู่ในกลุ่ม Pro เพราะเซนเซอร์ไซส์นี้จะให้คุณภาพของรูปถ่ายที่สูง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเอาเซนเซอร์ตัวไหนมาใส่ และฟีเจอร์ภายในดีขนาดไหน
ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่จริงจังกับการถ่ายภาพ เน้นถ่ายเป็นครั้งคราว คล้องคอไว้เอาเท่ไม่ได้ใช้งานเยอะขนาดนั้น ก็ควรลองชั่งใจดู เพราะการถอยกล้องระดับ Pro มาเพื่อถ่ายเล่นแบบนาน ๆ ครั้ง หรือเฉพาะตอนไปเที่ยว อาจจะเป็นอะไรที่เกินความจำเป็นไปสักหน่อย และเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปนั้นไปไวมาก นั่นทำให้กล้องหลาย ๆ ตัวตกรุ่นไวตามไปด้วย ถ้าวันไหนกล้องมีปัญหา แล้วไม่ผลิตอะไหล่, อุปกรณ์เสริม หรือแบตเตอรี่รุ่นนั้นแล้ว คงได้มีคนยืนยิ้มทั้งน้ำตาแน่นอน เว้นแต่ว่าคุณจะไม่ใช่คนที่อินกับเทคโนโลยีขนาดนั้น และแน่ใจแล้วว่ามันเพียงพอกับความต้องการในการใช้งานของคุณอย่างแน่นอน
ถ้าคิดแล้วว่าคุณจริงจังมากพอที่จะต้องซื้อกล้อง Full Frame จริง ๆ หรือยังไม่แน่ใจข้อนี้ คุณอาจจะต้องลองถามตัวเองอีกครั้งในข้อสุดท้ายนี้ดูอีกที
4. คุ้มค่ากล้องขนาดไหน?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น กล้องตัวนึงราคามันไม่ใช่ถูก ๆ มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนจนถึงหลักแสน และมันจะอยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนานถึงแม้จะเป็นกล้องระดับ Entry ก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานมันหนักขนาดไหน ทั้งนี้เราอาจต้องคิดว่า กล้องตัวที่กำลังจะถอยมันมา ถ้าได้มาแล้วจะคุ้มค่าขนาดไหน
โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่กล้อง Full Frame หรือตัวที่มีเซนเซอร์ขนาดเล็กกว่า อย่าง APS-C กับ Micro 4/3 ในระดับโปรนั้นมีราคาแพง นั่นเป็นเพราะมันถูกออกแบบและเสริมฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานในระดับมืออาชีพ พร้อมทั้งเพื่อให้งานมีออกมาคุณภาพสูง คุ้มค่าเงินค่าจ้างที่ลูกค้าจะจ่าย และช่วยคืนทุนค่าอุปกรณ์ได้ (ถ้าได้งานมาเยอะพอ) แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราซื้อกล้องระดับมืออาชีพราคาแพงมา แต่ได้ใช้แค่ถ่ายหมาแมวเป็นครั้งคราว นอกจากจะใช้งานได้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแล้ว มันก็อาจจะดูเกินความจำเป็นไปเยอะด้วย อีกทั้งไม่สามารถรีดประสิทธิภาพของกล้องนั้น ๆ ออกมาได้เท่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม ความ “คุ้มค่า” ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และเหมือนเป็นเรื่องของมุมมองส่วนบุคคลซะมากกว่า เช่นบางคนมีซื้อกล้อง Full Frame ราคาแพงมา แต่พอใจกับการที่มีไว้ครอบครองมากกว่าการหยิบมาใช้งาน และไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน นั่นก็ถือว่าคุ้มค่าในแบบของเขา นอกจากนี้ก็เคยมีกรณีตากล้องบางคนใช้กล้อง APS-C ระดับ Entry ถ่ายงานโฆษณาจากแบรนด์ใหญ่ ๆ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งก็ถือว่ารีดทั้งทักษะและประสิทธิภาพได้คุ้มค่าเลยทีเดียว
สำหรับในข้อนี้ ถือเป็นการถามย้ำกับตัวเองอีกรอบก่อนตัดสินใจว่า “ถ้าจะถอย Full Frame มา มันจะคุ้มค่าหรือไม่?”
จากคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ น่าจะช่วยให้ใครหลาย ๆ คนลองพิจารณาตัวเองได้ว่า “กล้อง Full Frame นั้นเหมาะกับเรามั้ย?” หรือ “เราต้องการกล้อง Full Frame จริง ๆ รึเปล่า?” เพราะแต่ละคนนั้นมีจุดประสงค์และความจริงจังในการใช้กล้องแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องของความพอใจก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาตัวเองแล้วว่ามันจำเป็นจริง ๆ หรือทนการป้ายยาจากมิตรหสายหลาย ๆ ท่านไม่ไหว นั่นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและแผนทางการเงิน ว่าจะซื้อมันหรือไม่
ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องของการถ่ายภาพนั้น ถ้าไม่นับเทคโนโลยีที่ก้าวไปทุกวัน มันก็เป็นเรื่องของมุมมอง, ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะในการถ่ายภาพของแต่ละคนมากกว่า เพราะกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์เสริม เป็นเพียงตัวช่วยให้จินตนาการของผู้ใช้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกล้อง Full Frame, APS-C, Micro 4/3 หรือกล้องมือถือ ถ้ามีจินตนาการและใช้ทักษะที่มีให้เป็นประโยชน์ ภาพที่ออกมานั้นก็สามารถเป็นผลงานชั้นยอดได้เหมือนกัน
แหล่งที่มา
6 Reasons Why You Should Buy a Full-Frame Digital Camera - 42West (adorama.com)
Full Frame vs Crop Sensor - Which is Best in 2023? (expertphotography.com)